สถิติวันนี้ |
24 คน |
สถิติเมื่อวาน |
67 คน |
สถิติเดือนนี้ สถิติปีนี้ สถิติทั้งหมด |
3990 คน 64405 คน 2775933 คน |
เริ่มเมื่อ 2008-11-20 |
|
Rigth frame : "Nor.Sor.2"
น.ส.2
น.ส.2 ใบจอง หรือ น.ส.2 คือหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อเป็นการแสดงความยินยอมให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นการชั่วคราว ซึ่งรัฐออกให้แก่บุคคลผู้ประสงค์จะได้ที่ดิน ของรัฐเป็นของตน โดยบุคคลผู้นั้นได้เสนอความต้องการของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรก็จะอนุญาตให้เข้าครอบครองที่ดิน และออกใบจองให้ไว้เป็นหลักฐาน
เป็นแบบแสดงรายการที่ดินที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่จะต้องไปยื่นแบบดังกล่าวเพื่อชำระภาษี
พ.ศ.2508
การออกใบจองมีได้ 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 การจัดที่ดินของรัฐให้แก่ประชาชน เรียกว่า "การจัดที่ดินผืนใหญ่" ซึ่งเป็นการจัดที่ดินที่มีเนื้อที่ติดต่อกันตั้งแต่ 1,000 ไร่ตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
กรณีที่ 2 ราษฎรขอจับจองที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย หรือที่เรียกว่า "ที่ดินหัวไร่ปลายนา" เป็นกรณีที่ราษฎรขอจับจองที่ดินตามมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สภาพของที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย ได้แก่ ที่ดินของรัฐที่มีเนื้อที่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งอาจจะมีพื้นที่กระจัดกระจายไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน หรือที่ดินที่มีเนื้อที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน
กรณีที่ดินหัวไร่ปลายนา ได้แก่ ที่ดินที่อยู่ติดต่อกับที่ดินซึ่งมีการทำประโยชน์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะติดต่อกับที่ดินของผู้ขอเอง หรือติดต่อกับที่ดินของผู้อื่น เรียกว่าที่ดินหัวไร่ปลายนาทั้งสิ้น จะมีอยู่ทั่วไปแปลงละไม่กี่ไร่ ให้จัดให้เข้าทำประโยชน์ได้ไม่เกิน 50 ไร่ หากเกิน 50 ไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย แต่ต้องไม่เกิน 100 ไร่
ผู้มีใบจองจะต้องเริ่มทำประโยชน์ในที่ดินภายใน 6 เดือนนับแต่วันได้รับใบจอง ทั้งจะต้องทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบจอง และจะต้องทำประโยชน์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 ของที่ดินที่จัดให้ ที่ดินที่มีใบจองนี้ ถ้ายังไม่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จะโอนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม เมื่อทำประโยชน์ตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็มีสิทธินำใบจองนั้นมาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3 ข) หรือโฉนดที่ดินได้ แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินนั้นจะต้องตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
แบบของใบจอง มี 2 แบบ คือ แบบ น.ส. 2 และ น.ส. 2 ก.
แบบ น.ส.2 ใช้ในการออกใบจองในท้องที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งประจำอำเภอตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528
แบบ น.ส.2 ก. ใช้ในการออกใบจองในท้องที่อื่นนอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้น
คำถาม-คำตอบที่ควรรู้
ถาม การเปลี่ยนตราจองเป็นโฉนดที่ดิน
1.เมื่อรังวัดใหม่เป็นโฉนดที่ดินปรากฏว่า ได้รูปแผนที่และเนื้อที่แตกต่างจากตราจองเดิม อยากทราบว่า เจ้าพนักงานที่ดินจะต้องสั่งแก้รูปแผนที่และเนื้อที่ ก่อนออกเป็นโฉนดที่ดินใหม่หรือไม่ อย่างไร.
2.จะต้องสร้างใบไต่สวน (น.ส. 5) หรือไม่อย่างไร
3.หากที่ดินมีภาระผูกพัน เช่นจำนอง ฯลฯ จะจดแจ้งหรือหมายเหตุในเรื่องเดิมอย่างไร?
ตอบ ตามคำถาม ไม่ทราบว่าเป็นตราจองประเภทใด จึงขอตอบเป็น 2 กรณี ดังนี้
1.ตราจอง ซึ่งยังมิได้ตราไว้ว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" ถือเป็นหลักฐานที่ดินตาม ข้อ 7 (2) แห่งประมวลกฎกระทรวงฉบับที่ 43 พ.ศ. 2537 ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 เมื่อนำมาขออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย ก็ทำให้การรังวัดทำแผนที่และสอบสวนตามวิธีการรังวัดและการสอบสวนสิทธิเพื่อออกโฉนดที่ดิน หากปรากฏว่าได้รูปแผนที่และเนื้อที่แตกต่างจากตราจองเดิม อนุโลมให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0719/ว 25478 ลงวันที่ 22 กันยายน 2541 เรื่อง การออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าพนักงานที่ดิน ที่จะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมแก่กรณีต่อไป โดยขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในแต่ละเรื่อง ส่วนกรณีตราจองมีรายการภาระผูกพัน ให้ยกรายการดังกล่าวมาจดแจ้งไว้ในโฉนดที่ดินด้วย ตามความในมาตรา 59 จัตวา แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
2. ตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินประเภทหนึ่ง ตามนัยมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน กรมที่ดินได้ซ้อมความเข้าใจในเรื่องนี้ ตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0619/ว 15111 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 เรื่อง การรังวัดเปลี่ยนโฉนดตราจอง หรือตราจองที่ว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" เป็นโฉนดที่ดินว่า การรังวัดเปลี่ยนโฉนดตราจอง หรือตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" เป็นโฉนดที่ดินมิใช่การรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน แต่เป็นการรังวัดสอบเขตที่ดิน ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเปลี่ยนประเภทหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ และเพื่อให้ทราบที่ตั้งแนวเขตที่ดินเท่านั้น ดังนั้น ในการรังวัด ถ้าปรากฏว่าการครอบครองไม่ตรงกับแผนที่หรือเนื้อที่ในโฉนดที่ดิน เมื่อผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเยงได้รับรองแนวเขตแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจแก้ไขแผนที่หรือเนื้อที่ให้ตรงกับความเป็นจริงได้ เว้นแต่จะเป็นการสมยอมเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย และไม่ต้องสร้างใบไต่สวน (น.ส. 5) ตามนัยเหตุผลข้างต้น ส่วนกรณีมีภาระผูกพัน ให้ถือปฏิบัติตาม มาตรา 59 จัตวา แห่งประมวลกฎหมายที่ดินดังกล่าว
ถาม ขอแก้ชื่อผู้ขอจับจองในใบจอง ด้วยนางมิ่ง จักรบุตร ได้ขอแก้ไขเปลี่ยนชื่อ ใบจอง จากชื่อเดิม (นายบุญ บุตราช) เป็นชื่อนางมิ่ง จักรบุตร ที่ สำนักงานที่ดิน สาขา อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ยื่นเรื่องขอแก้ไข ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. 2550 บัดนี้ยังไม่ดำเนินการให้แต่อย่างใด จึงขอทราบผลการแก้ไขชื่อผู้ขอจับจอง ว่าดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว
ตอบ ใบจอง (น.ส. 2) คือ หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว ที่ออกให้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนดว่าต้องทำประโยชน์ในเวลาที่กำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่รับใบจอง และจะต้องทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ดังนั้น เมื่อรัฐได้จัดให้บุคคลใดเข้าครอบครองในที่ดินแปลงใดแล้ว จะโอนสิทธิในการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานใบจองให้แก่ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากเป็นการตกทอดทางมรดกเท่านั้น
ถาม รบกวนสอบถามเรื่องใบจองที่ดินค่ะ(ไม่รู้เรียกถูกหรือเปล่า) คือ มีคนจะขายที่ดินที่มีใบจองให้ค่ะ และดิฉันกำลังจะตัดสินใจซื้อเพื่อทำสวน และปลูกบ้านพักรับรอง อยากทราบว่า 1. ไม่รู้ว่าซื้อไปแล้วจะมีปัญหาหรือเปล่า 2.ใบจองมีโอกาสที่จะออกโฉนดได้หรือเปล่าค่ะ 3.และถ้าจะทำสวน ทำไร่ และปลูกบ้านพักรับรอง (หรือรีสอร์ท) จะมีปัญหาหรือเปล่า และปัญหาคืออะไร ตอบด้วยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ
ตอบ ใบจอง ไม่สามารถทำการซื้อขายได้ จะตกทอดได้แต่ทางมรดกเท่านั้น
ถาม พนักงานเจ้าหน้าที่จะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในใบจองตามมาตรา 82 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้หรือไม่?
ตอบ ตามมาตรา 82 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติไว้เฉพาะการจดทะเบียนลงชื่อ ผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงมีกรณีพิจารณาว่า ใบจองถือเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๑ คำว่า สิทธิในที่ดิน หมายความว่ากรรมสิทธิ์และให้หมายความรวมถึงสิทธิครอบครองด้วย และคำว่า ใบจอง หมายความว่า หนังสือแสดง การยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว ประกอบกับมาตรา ๖๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้บัญญัติว่า ถ้าโฉนดที่ดิน ใบไต่สวน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือใบจอง ฉบับสำนักงานที่ดินเป็นอันตราย ชำรุด สูญหาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗๑ มีอำนาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวจากผู้มีสิทธิในที่ดินมาพิจารณาแล้วจัดทำขึ้นใหม่
. ใบจองจึงถือได้ว่าเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่จึงชอบที่จะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในใบจอง ตามนัยมาตรา ๘๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ (สรุปโดย กลุ่มพิจารณาปัญหาข้อหารือและร้องเรียน ส่วนมาตรฐานการจดทะเบียนที่ดิน สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน; มีนาคม 2549)
Source: www.dol.go.th
|