สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน กฏหมายที่ดิน,กฏหมายอาคารชุด

       

   สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน  

สำนักงานวัชรธรรมทนายความฯ ยินดีให้บริการท่านด้วยประสบการณ์ในวิชาชีพ ให้คำปรึกษาทำโครงการบ้านจัดสรร คอนโด ขาย สร้าง โอน ครบวงจร                                                                                                                                                                                                                                                                    
 

   

    





 สถิติวันนี้ 24 คน
 สถิติเมื่อวาน 67 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3990 คน
64405 คน
2775933 คน
เริ่มเมื่อ 2008-11-20

การรับมรดกที่ดิน ส.ป.ก.



การรับมรดกที่ดินตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518


กฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้บัญญัติเรื่องการรับมรดกที่ดินไว้ในมาตรา 39 "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง"

การรับมรดกที่ดิน ส.ป.ก. นอกจากจะเป็นไปตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้ว ยังจะต้องเป็นไปตาม "ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโอนและการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535" อีกด้วย ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้

1. ผู้รับโอนและผู้รับมรดกตามระเบียบฉบับดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

    (1) ผู้นั้นรวมทั้งบุคคลในครอบครัวเดียวกันไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเพียงพอแก่การครองชีพอยู่ก่อนแล้ว

    (2) เป็นผู้มีคุณสมบัติและอยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดไว้

2. เมื่อเกษตรกรรมถึงแก่กรรมให้สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อตกทอดแก่คู่สมรสเป็นอันดับแรก

    "คู่สมรส" หมายความรวมถึง ชายและหญิงที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ในขณะยื่นคำขอโอนสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ หรือขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายด้วย

3. ในกรณีที่ไม่มีคู่สมรส หรือคู่สมรสไม่ขอรับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อหรือไม่มีคุณสมบัติจะได้รับมรดกสิทธิตามระเบียบ ให้สิทธินั้นตกทอดแก่บุตร

4. หากมีบุตรหลายคนให้แยกพิจารณา ดังนี้

    (1) ถ้าตกลงกันได้ว่าจะให้บุตรคนใดเพียงคนเดียวเป็นผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ ก็ให้เป็นไปตามข้อตกลง

    (2) ถ้าตกลงกันไม่ได้และที่ดินสามารถแบ่งแยกได้โดยเพียงพอแก่การครองชีพ ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่าเนื้อที่ถือครองขั้นต่ำที่ คปจ.(คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด) กำหนดไว้ ก็ให้จัดแก่บุตรเหล่านั้นตามส่วน

    (3) ถ้าตกลงกันไม่ได้และที่ดินไม่สามารถแบ่งแยกให้เพียงพอแก่การครองชีพตาม (2) ได้ครบจำนวนบุตร ให้ คปจ. พิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจากบุตรเหล่านั้นเป็นผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อตามจำนวนแปลงที่ดินที่อาจแบ่งแยกได้

5.ในกรณีที่บุตรคนใดตายก่อนผู้เช่าหรือผู้เช่าซื้อ ให้ผู้สืบสันดานโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรคนนั้นที่ประกอบเกษตรกรรมร่วมกับเกษตรกรนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือนมีสิทธิตาม 4(2) และ 4 (3) แทนที่ในฐานะบุตร

6. ในกรณีที่ไม่มีคู่สมรสหรือบุตร หรือบุคคลดังกล่าวไม่ขอรับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ หรือไม่มีคุณสมบัติจะได้รับมรดกสิทธิตามระเบียบ ให้สิทธินั้นตกทอดแก่เครือญาติได้ ถ้ามีเครือญาติดังกล่าวหลายคน ให้นำความในข้อ 4.และ 5. มาใช้บังคับโดยอนุโลม

7. "เครือญาติ" หมายความว่า บุคคลดังต่อไปนี้

    (1) บิดาหรือมารดาของเกษตรกร

    (2) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของเกษตรกร

    (3) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาของเกษตรกร

         ทั้งนี้ บุคคลตาม (2) หรือ (3) ต้องเป็นผู้ที่ประกอบเกษตรกรรมร่วมกับเกษตรกรในที่ดินแปลงนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน

    (4) หลานของเกษตรกร

8.เกษตรกรจะกำหนดลำดับทายาทผู้ที่จะได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินหากตนเองถึงแก่กรรมไว้ โดยมิให้เป็นไปตามข้อ 2.,3.,6.ก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือตามแบบที่ ส.ป.ก.กำหนด ยื่นต่อ ส.ป.ก.จังหวัดไว้เป็นหลักฐาน

9.เกษตรกรจะกำหนดทายาทผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินมากกว่าหนึ่งคนก็ได้ หากที่ดินสามารถแบ่งแยกแล้วเพียวพอแก่การครองชีพตามขนาดเนื้อที่ถือครองขั้นต่ำที่ คปจ. กำหนด และให้นำความในข้อ 3. 4.และ 5. มาใช้บังคับโดยอนุโลม

10. ถ้าเกษตรกรมีคู่สมรส การแสดงความประสงค์ตามข้อ 8. ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสด้วย

11. ทายาทที่เกษตรกรกำหนดให้เป็นผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดิน จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 1.อยู่ในขณะที่เกษตรกรถึงแก่กรรมด้วย และหากทายาทตามที่ระบุไว้ในหนังสือดังกล่าวข้างต้นไม่มีคุณสมบัติตามข้อ 1. ให้นำความในข้อ 2., 3., 4., 5.และ 6 มาใช้บังคับเสมือนหนึ่งเกษตรกรไม่ได้แสคงวามประสงค์ดังกล่าว

12. ในกรณีที่บุคคลตามข้อ 3., 6., และข้อ 8. ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะรับโอนสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อได้เฉพาะเมื่อผู้นั้นเป็นผู้ที่สามารถประกอบเกษตรกรรมในที่ดินนั้นได้ด้วยตนเองและจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

      สิทธิการเช่าซื้อที่ยังมีเงื่อนไขหรือมีค่าภาระติดพันอยู่ จะโอนให้ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไม่ได้ เว้นแต่ผู้โอนจะได้ทำให้เงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันนั้นหมดไปเสียก่อน หรือผู้รับโอนได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ปกครอง และจะต้องได้รับอนุมัติจากศาลแล้ว

13. เมื่อทราบว่าเกษตรกรถึงแก่กรรม ให้ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียแจ้งให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดดำเนินการสอบสวนหาผู้ที่จะมีสิทธิได้รับมรดกสิทธิตามระเบียบโดยเร็ว เพื่อนำเสนอ คปจ. ต่อไป

      ให้ คปจ. เป็นผู้พิจารณาว่าบุคคลใดเป็นผู้จะได้รับมรดกสิทธิตามระเบียบ เมื่อ คปจ. มีมติเป็นประการใด ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือแจ้งให้ผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามสิทธิตามผลการพิจารณาของ คปจ.มารับทราบพร้อมทั้งจัดทำสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อให้กับผู้รับมรดกตามแบบที่ ส.ป.ก. กำหนดโดยเร็วต่อไป

      ถ้ามีเหตุอันควร คปจ. อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อให้ผู้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อมีหน้าที่ให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่ทายาทผู้ที่ตกลงไม่ขอรับสิทธิ หรือเป็นทายาทที่เป็นผู้เยาว์หรือผู้ทุพพลภาพหรือโรคจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบก็ได้ตามความเหมาะสมแก่กรณี

14. ผู้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อจะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเกษตรกรผู้ถึงแก่กรรม

15. หากปรากฏว่าผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ คปจ. กำหนดตามข้อ 13.วรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีหนังสือเตือนให้ผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อปฏิบัติตามข้อกำหนดให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามให้ คปจ. กำหนดมาตรการที่สมควร ทั้งนี้ อาจพิจารณาถึงขั้นให้ผู้นั้นสิ้นสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อได้

      เมื่อ คปจ. ได้สั่งให้ผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อสิ้นสิทธิในที่ดินและมีคำสั่งให้ผู้นั้นออกจากที่ดินภายในเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ คปจ. พิจารณาบุคคลอื่นผู้มีสิทธิที่จะได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อเพียงรายเดียวเป็นผู้ได้รับสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อแทนต่อไป ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิทายาทที่เคยไม่ขอรับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อแต่เดิมด้วย

16. ถ้าเกษตรกรผู้ถึงแก่กรรมมีหนี้สินค้างชำระกับ ส.ป.ก.หรือสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก.หรือสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้ได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อจะต้องรับไปซึ่งหนี้สินที่ค้างชำระเหล่านั้นด้วย

      หากบุคคลตามวรรคหนึ่งไม่ยอมรับหนี้สินที่ค้างชำระดังกล่าว หรือไม่ยินยอมรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อ ให้ผู้นั้นหมดสิทธิได้รับมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาบุคคลผู้จะได้รับมรดกสิทธิรายอื่นที่ยินยอมชำระหนี้และยินยอมปฏิบัติตามระเบียบ เสนอ คปจ. พิจารณาต่อไป โดยให้นำข้อ 15. วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

17. ถ้าไม่มีทายาทตามระเบียบมารับสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ หรือมีแต่ไม่ขอรับ หรือไม่มีคุณสมบัติตามข้อ 1. ให้ คปจ. ดำเนินการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรรายอื่นตามระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป

      กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการเช่าซื้อที่ดิน ให้เจ้าหน้าที่หักเงินเท่ากับจำนวนค่าเช่าที่ดินดังกล่าวที่ ส.ป.ก. กำหนดและหนี้สินที่ค้างชำระกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่แจ้งหนี้ให้ ส.ป.ก. ทราบออกจากเงินที่เกษตรกรผู้ถึงแก่กรรมได้ชำระเป็นค่าเช่าซื้อ และคืนเงินที่เหลือให้แก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของผู้เช่าซื้อ โดยส่งมอบแก่ผู้จัดการมรดก หรือในกรณีไม่มีผู้จัดการมรดก ก็ให้ส่งมอบแก่ทายาทคนหนึ่งคนใดซึ่งมีสิทธิจะได้รับมรดกเพื่อแบ่งปันให้กับทายาทรายอื่นต่อไป

18. ถ้าผู้ที่ตกลงรับมรดกสิทธิการเช่าซื้อ ขอเลิกสัญญาเช่าซื้อในภายหลัง ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินคืนค่าเช่าซื้อที่เกษตรกรผู้ตายและผู้นั้นได้ชำระไว้ ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินที่ตนตกลงรับมรดกสิทธิการเช่าซื้อ โดยนำวิธีการหักเงินตามความในข้อ 17. วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

      ถ้าผู้ที่ขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อมีภาระผูกพันในเรื่องสิทธิประโยชน์ตามข้อ 13. วรรคสาม ผู้นั้นจะได้รับเงินคืนตามวรรคหนึ่งต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามภาระผูกพันนั้นครบถ้วนแล้ว

      ถ้ามีการขอเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อมิได้ปฏิบัติตามภาระผูกพันในเรื่องสิทธิประโยชน์ ให้ คปจ. พิจารณาผู้มีสิทธิที่จะได้รับมรดกสิทธิการเช่าซื้อตามระเบียบคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวเป็นผู้ได้รับสิทธิการเช่าซื้อแทนต่อไป โดยจะต้องรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อทั้งหมดรวมทั้งภาระผูกพันในสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่เดิมนั้นด้วย และให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

19. ในกรณีโอนสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ หากมีค่าใช้จ่ายในการรังวัดแบ่งแปลง ให้ผู้โอนเป็นผู้ชำระ ส่วนในกรณีตกทอดทางมรดกสิทธินั้นให้บรรดาทายาทผู้ได้รับมรดกสิทธิเป็นผู้ชำระ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ ส.ป.ก. กำหนด

20. ให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดรายงานการโอนสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อหรือการตกทอดมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อให้ ส.ป.ก. ทราบ เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อไป


Source: www.alro.go.th

Copyright (c) 2008 by Vatchara Thamma Land Law Office Company Limited.