สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน กฏหมายที่ดิน,กฏหมายอาคารชุด

       

   สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน  

สำนักงานวัชรธรรมทนายความฯ ยินดีให้บริการท่านด้วยประสบการณ์ในวิชาชีพ ให้คำปรึกษาทำโครงการบ้านจัดสรร คอนโด ขาย สร้าง โอน ครบวงจร                                                                                                                                                                                                                                                                    
 

   

    





 สถิติวันนี้ 62 คน
 สถิติเมื่อวาน 81 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
1210 คน
58522 คน
2770050 คน
เริ่มเมื่อ 2008-11-20

อากรแสตมป์


ถาม  ข้าพเจ้าต้องการทราบว่า กรณีที่เสียภาษีธุระกิจเฉพาะแล้ว (กรณีขาย/ให้) บางสำนักงานเห็นมีกรณีเรียกเก็บอากรคู่ฉบับ 5 บาท บางที่ไม่เรียกเก็บโดยอ้างว่าเมื่อเสียภาษีธุระกิจเฉพาะแล้ว ก็ควรได้รับการยกเว้นการเก็บอากรณ์รวมทั้งอากรคู่ฉบับได้ จึงอยากให้ประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยตอบใน ถาม-ตอบนี้ ให้ด้วย เพราะจะได้มีหลักฐานไว้อ้างอิง ขอบคุณมากครับ
       ตอบ  ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร กำหนดไว้ว่า
                   ตามลักษณะตราสาร 23 ซึ่งได้แก่ คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร
                  (ก) ถ้าต้นฉบับเสียอากรไม่เกิน 5 บาท เสียอากรแสตมป์ 1 บาท
                  (ข) ถ้าเกิน 5 บาท เสียอากรแสตมป์ 5 บาท
                 นอกจากนี้ยังกำหนดให้ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร ถ้าฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นสหกรณ์ ส่วนตามลักษณะตราสาร 28 (ข) ซึ่งได้แก่ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์....ได้กำหนดให้ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร ใบรับสำหรับจำนวนเงินที่ผู้รับต้องเสีย...หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อกรณีตามคำถามของคุณธีระศักดิ์ฯ เป็นกรณีที่มีการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ใบรับตามลักษณะตราสาร 28 (ข) ซึ่งเป็นคนละกรณีกับข้อยกเว้นไม่เสียอากรตามลักษณะตราสาร ๒๓ ดังนั้น หากมีกรณีที่จะต้องเรียกเก็บอากรแสตมป์คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร พนักงานเจ้าหน้าที่จึงต้องเรียกเก็บอากรแสตมป์ดังกล่าวต่อไป

ถาม  นาย ก. ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมโดยไม่มีค่าตอบแทนกับนาง ข. เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2542 จำนวน 2 สัญญา คือ ที่ดิน คู่สัญญาตีราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 10,000.- บาท ราคาประเมินทุนทรัพย์ 14,667.-บาท และที่ดิน คู่สัญญาตีราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 100,000.-บาท ราคาประเมินทุนทรัพย์ 187,734.-บาท
       ตอบ  กรณีนาย ก. ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทน จำนวน 2 สัญญาให้กับนาง ข. เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2542 เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองเกินห้าปีนับแต่วันที่ได้อสังหาริมทรัพย์มา ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 แต่นาย ก. มีหน้าที่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์จากใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เจ้าพนักงานฯ ของสำนักงานที่ดินมิได้เรียกเก็บอากรแสตมป์ ถือได้ว่านาย ก. มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายจึงต้องรับผิดชำระค่าอากรและเงินเพิ่มตามมาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากความสำคัญผิดในข้อกฎหมายของเจ้าพนักงานที่ดิน และนาย ก. มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงและได้ชำระอากรแสตมป์แล้วเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2548 กรณีมีเหตุอันสมควรขยายกำหนดเวลาการชำระอากรแสตมป์ตามที่ร้องขอตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ออกไปจนถึงวันที่ 28 เมษายน 2548 โดยไม่ต้องชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม  นาย ส. หารือกรณีขอยกเว้นเงินเพิ่มอากรแสตมป์สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า นาย ส. ได้ขายที่ดินเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 และวันที่ 3 ธันวาคม 2545 หนังสือสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนรวมสี่โฉนด จำนวนเงิน ราคา 44,079,300.- บาท รวมราคาขายที่ดินเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 88,158,600.- บาท นาย ส. ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการขายที่ดินและภาษีอากรไว้ที่สำนักงานที่ดิน จำนวน 2,817,626 บาท ซึ่งต่อมานาย ส. ทราบว่ามีการระบุข้อเท็จจริงในบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมไว้คลาดเคลื่อน เนื่องจากในช่วงปลายปี 2545 มีผู้ซื้อขายที่ดินมาใช้บริการเป็นจำนวนมากเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนขึ้น ในสัญญาระบุว่าแบ่งแยกเพื่อขาย แต่โดยแท้จริงแล้วเป็นการแบ่งแยกเพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงิน นาย ส. จึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งสำนักงานที่ดินได้แก้ไข และได้แจ้งให้นาย ส. ทราบว่าต้องชำระค่าอากรแสตมป์ พร้อมเงินเพิ่ม ซึ่งนาย ส. ยินดีที่จะชำระค่าอากรแสตมป์ตามราคาขายที่ดิน แต่ขอยกเว้นเงินเพิ่ม เนื่องจากนาย ส. มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงค่าอากรแสตมป์แต่อย่างใด จะเสียเงินเพิ่มอากรน้อยกว่า กรณีดังกล่าวเป็นอำนาจของอธิบดีที่จะพิจารณาอนุมัติให้ลดเงินเพิ่มได้ตามข้อ 3 วรรค 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว
       ตอบ  กรณีที่นาย ส. ขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องเสียอากรแสตมป์แต่นาย ส. ไม่ได้เสียอากรแสตมป์ไว้ ดังนั้น นาย ส. จะต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากการไม่ได้เสียอากรแสตมป์ดังกล่าวมิใช่ความผิดของนาย ส. แต่เป็นความเข้าใจผิดของเจ้าพนักงานที่ดิน และนาย ส. ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระค่าอากรแสตมป์ กรณีมีเหตุอันสมควรขยายกำหนดเวลาการชำระอากรแสตมป์ตามที่ร้องขอตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ยื่นแบบชำระอากรเป็นตัวเงินตามมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงานสรรพากรภาค โดยไม่ต้องชำระเงินเพิ่มแต่อย่างใด

ถาม  นาย ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ม. และผู้อนุบาลของนาง ก. บุตรผู้ไร้ความสามารถของนาง ม. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินของนาง ม. ให้แก่นาง ก. แต่เพียงผู้เดียว ต่อมานางสาว อ. ทายาทอีกคนหนึ่งของนาง ม. ได้ยื่นฟ้องนาง ก. และนาย ส. เป็นจำเลยต่อศาล ในคดีอาญาฐานยักยอกเบียดบังทรัพย์มรดก นาย ส. ในฐานะผู้อนุบาลจึงร้องขอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อขอโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนกองมรดกของนาง ม. แทนนาง ก. ผู้ไร้ความสามารถเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทและศาลมีคำสั่งอนุญาต จึงขอทราบว่านาย ส. โอนทรัพย์ที่รับมรดกมาคืนกองมรดกของนาง ม. จะต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและอากรแสตมป์หรือไม่
       ตอบ  กรณีนาย ส. การจดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งตกเป็นทรัพย์ของนาง ก. ผู้ไร้ความสามารถแล้ว เป็นการโอนในฐานะผู้อนุบาลมิใช่ในฐานะผู้จัดการมรดก มิใช่การโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาท ซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามคำนิยามในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร นาย ส. ในฐานะผู้อนุบาลของนาง ก. จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 50(6) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น นาย ส.ผู้อนุบาลของนาง ก. ผู้โอนจึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยให้คำนวณหักตามมาตรา 50(5)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. (ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์

ถาม  กรณีบริษัทเงินทุนได้ทำสัญญาซื้อสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ของสถาบันการเงินที่ถูกคณะกรรมการปฎิรูประบบสถาบันการเงินสั่งปิดกิจการจากผู้ชนะการประมูล เพื่อนำมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อดังกล่าวเป็นหนี้เกี่ยวกับเงินกู้หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อบริษัทเงินทุนได้ทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วมีผลให้หลักประกัน เช่นค้ำประกัน จำนอง จำนำ ซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์แห่งสิทธิเรียกร้องนั้นโอนมายังบริษัทเงินทุนด้วยตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จากการซื้อขายสิทธิเรียกร้องข้างต้น บริษัทเงินทุนฯ จึงมีความประสงค์ที่จะจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองในหนี้ที่มีจำนองเป็นประกันบางรายมายังบริษัทเงินทุนฯ เพื่อความสะดวกในการปฎิบัติงานในกรณีที่ลูกหนี้มาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และ/หรือขอปลดหรือไถ่ถอนจำนอง บริษัทฯ มีความเห็นว่า การทำสัญญาซื้อหรือขายสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อจากผู้ประมูลได้ สิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อดังกล่าวเป็นบุคคลสิทธิจึงไม่อาจเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ใบรับที่ออกโดยเหตุตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงไม่เข้าข่ายตามลักษณะตราสาร 28(ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์และสำหรับการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ สิทธิเรียกร้องนั้นได้ถูกโอนมายังบริษัทเงินทุนผู้ซื้อโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น แม้จะมีการจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองมายังบริษัทเงินทุนภายหลัง แต่การโอนสิทธิการรับจำนองนั้นก็ไม่มีค่าตอบแทนและไม่ได้มีการออกใบรับ การโอนสิทธิการรับจำนองดังกล่าวจึงไม่ต้องชำระ อากรแสตมป์ตามลักษณะตราสาร 28(ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์สมาคมฯ จึงหารือว่า ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
       ตอบ  นิติกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้สินเชื่อเกี่ยวกับหนี้เงินกู้หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็น นิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับ แต่นิติกรรมดังกล่าวไม่ใช่นิติกรรมที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย ใบรับดังกล่าวจึงไม่ต้องปิดแสตมป์ตามลักษณะตราสาร 28 (ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์และ สิทธิจำนองอันเป็นหลักประกันของหนี้ที่ได้มีการโอนให้แก่ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวย่อมตกไปเป็นของผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การจดทะเบียนเพื่อ เปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับจำนองทางทะเบียนจากผู้โอนสิทธิการรับจำนองไปเป็นผู้รับโอนสิทธิการรับจำนอง จึงไม่อยู่ในข่ายต้องเสียอากรแสตมป์แต่อย่างใด

ถาม  บรรษัทฯ เป็นผู้ชนะการประมูลจากการจำหน่ายสินทรัพย์ขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบ สถาบันการเงิน (ปรส.) และสินทรัพย์ดังกล่าวมีลูกหนี้ที่มีการจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน ซึ่งบรรษัทฯ จะต้องจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองจากสถาบันการเงินเดิมที่ถูกทางราชการสั่งระงับการดำเนิน กิจการ เนื่องจากหน่วยราชการที่เป็นผู้ดำเนินการรับจดทะเบียนได้แจ้งว่า การจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองดังกล่าวเป็นการจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองที่มีค่าตอบแทน ซึ่งมีภาระต้องติดอากรแสตมป์ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรตามลักษณะแห่งตราสารใบรับ 28.(ข) เป็นเหตุให้บรรษัทฯ ต้องเสียอากรแสตมป์จากการรับโอนสิทธิจำนองดังกล่าวและขอให้กรมสรรพากรพิจารณายกเว้นให้
       ตอบ  การโอนบัญชีลูกหนี้จากเจ้าหนี้เดิมไปยังเจ้าหนี้ใหม่ทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าว ต้องโอนไปยังเจ้าหนี้ใหม่ ซึ่งต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้รับจำนอง แต่การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้รับจำนองดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายต้องเสียอากรแสตมป์แต่อย่างใด

ถาม  นาย ก. ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเจ้าพนักงานของสำนักงานที่ดินมิได้เรียกเก็บอากรแสตมป์ จึงมิได้ชำระอากรแสตมป์ขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ต่อมาได้ชำระอากรแสตมป์แล้ว สำหรับเงินเพิ่มอากรแสตมป์ 6 เท่า ในกรณีไม่เสียอากรแสตมป์ภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 114(2)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ยังมิได้ชำระโดยแจ้งว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดเงินเพิ่มอากรแสตมป์ เนื่องจาก ณ วันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเจ้าพนักงานมิได้เรียกเก็บ ซึ่งมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร จึงได้ยื่นคำร้องของดเงินเพิ่มอากรแสตมป์
       ตอบ  กรณีนาย ก. ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินแก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 โดยไม่มีค่าตอบแทน ถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากถือครองที่ดินดังกล่าวเกิน 5 ปี จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ดังนั้น ใบรับสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่ได้รับยกเว้นค่าอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ กรณีไม่ได้ชำระอากรแสตมป์ขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ถือว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องรับผิดเงินเพิ่มอากร 6 เท่า ของเงินอากรที่ต้องเสีย ตามมาตรา 114(2)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาได้ไปชำระค่าอากรแสตมป์โดยยื่นคำร้องของดเงินเพิ่มอากรแสตมป์ เนื่องจากไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระค่าอากรแสตมป์ กรณีจึงมีเหตุอันสมควรขยายกำหนดเวลาชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงินให้ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องชำระเงินเพิ่มอากรแต่อย่างใด ตามมาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม  นาย ส. หารือกรณีขอยกเว้นเงินเพิ่มอากรแสตมป์สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า นาย ส. ได้ขายที่ดินเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 และวันที่ 3 ธันวาคม 2545 หนังสือสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนรวมสี่โฉนด จำนวนเงิน ราคา 44,079,300.- บาท รวมราคาขายที่ดินเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น88,158,600.- บาท นาย ส. ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการขายที่ดินและภาษีอากรไว้ที่สำนักงานที่ดิน จำนวน 2,817,626 บาท ซึ่งต่อมานาย ส. ทราบว่ามีการระบุข้อเท็จจริงในบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมไว้คลาดเคลื่อน เนื่องจากในช่วงปลายปี 2545 มีผู้ซื้อขายที่ดินมาใช้บริการเป็นจำนวนมากเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนขึ้น ในสัญญาระบุว่าแบ่งแยกเพื่อขาย แต่โดยแท้จริงแล้วเป็นการแบ่งแยกเพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงิน นาย ส. จึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งสำนักงานที่ดินได้แก้ไข และได้แจ้งให้นาย ส. ทราบว่าต้องชำระค่าอากรแสตมป์ พร้อมเงินเพิ่ม ซึ่งนาย ส. ยินดีที่จะชำระค่าอากรแสตมป์ตามราคาขายที่ดิน แต่ขอยกเว้นเงินเพิ่ม เนื่องจากนาย ส. มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงค่าอากรแสตมป์แต่อย่างใด จะเสียเงินเพิ่มอากรน้อยกว่า กรณีดังกล่าวเป็นอำนาจของอธิบดีที่จะพิจารณาอนุมัติให้ลดเงินเพิ่มได้ตามข้อ 3 วรรค 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว
       ตอบ  กรณีที่นาย ส. ขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องเสียอากรแสตมป์แต่นาย ส. ไม่ได้เสียอากรแสตมป์ไว้ ดังนั้น นาย ส. จะต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากการไม่ได้เสียอากรแสตมป์ดังกล่าวมิใช่ความผิดของนาย ส. แต่เป็นความเข้าใจผิดของเจ้าพนักงานที่ดิน และนาย ส. ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระค่าอากรแสตมป์ กรณีมีเหตุอันสมควรขยายกำหนดเวลาการชำระอากรแสตมป์ตามที่ร้องขอตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ยื่นแบบชำระอากรเป็นตัวเงินตามมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงานสรรพากรภาค โดยไม่ต้องชำระเงินเพิ่มแต่อย่างใด

ถาม  หลักฐานการรับเงินค่าตอบแทนการจดทะเบียนโอนทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นใบรับที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามลักษณะตราสาร 28.(ข) ใบรับแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ในกรณีมีจำนวนเงินตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป ทุก 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ต้องปิดอากรแสตมป์ 1 บาท ไม่คำนึงว่า กรณีดังกล่าว จะมีการตกลงชำระเงินค่าตอบแทนกันเป็นรายปีต่อไปหรือมีกำหนดระยะเวลาตามสัญญาชัดแจ้งหรือไม่ กรมที่ดินจึงหารือเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวจะ ต้องเรียกเก็บอากรแสตมป์จากจำนวนเงินค่าตอบแทนที่คู่กรณีจ่ายให้แก่กันในวันจดทะเบียนเท่านั้น ไม่รวมถึงค่าตอบแทนที่จ่ายกันเป็นรายเดือนหรือรายปีต่อไป เนื่องจากไม่ทราบกำหนดเวลาที่สิ้นสุด หรือจะต้อง เรียกเก็บอากรแสตมป์อย่างไร
       ตอบ  กรณีใบรับตามลักษณะตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ จะต้องเรียกเก็บ อากรแสตมป์จากจำนวนเงินค่าตอบแทนที่คู่กรณีจ่ายให้แก่กันในวันจดทะเบียน หากมีการชำระเงินค่าตอบแทนกันในเดือนหรือปีใด ผู้ออกใบรับจะต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์เพิ่มขึ้นตามอัตราที่กฎหมายกำหนดใน เดือนหรือปีนั้น ซึ่งกรมสรรพากรมีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป

ถาม  ส. มีความประสงค์จะมอบที่ดินที่ตั้งอยู่ในตำบลทับคล้อ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตรให้กับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา โดยให้ ดำเนินการจัดตั้งเป็นสถานศึกษา (มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยหรือโรงเรียน) ทั้งขอให้ดำเนินการโดยเร็วภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่า การบริจาคที่ดินในกรณีดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างยิ่ง จึงขอให้ กรมสรรพากรยกเว้นอากรแสตมป์จากการรับมอบที่ดิน
       ตอบ  กรณี ส. บริจาคที่ดินให้แก่สถานศึกษาตามโครงการพระราชดำริ สถานศึกษาตาม นโยบายที่จะระดมพลังเพื่อเร่งรัดปรับปรุงคุณภาพและสถานศึกษาที่รองรับพัฒนาเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการตามรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด ก็ จะได้รับยกเว้นอากรแสตมป์กรณีใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 ประกอบกับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนการศึกษา ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2548 แต่กรณีบริจาคที่ดินให้กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์แต่อย่างใด

ถาม  วัด ก. ได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนรับให้ที่ดินจาก นางสาว บ. เพื่อใช้เป็นที่ตั้งวัดและได้ รับทราบจากทางราชการว่าวัดจะต้องเสียค่าธรรมเนียม .01% ของราคาประเมินที่ดิน (650 บาท) และเสียค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาประเมินที่ดิน (32,481 บาท) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เห็นว่าในทางปฏิบัติเมื่อวัดในพระพุทธศาสนา ขอรับให้ที่ดินจากผู้บริจาคโดยไม่มีค่าตอบแทน และใช้เป็นที่ตั้งศาสนสถานเมื่อรวมกับที่ดินที่มีอยู่เดิม ไม่เกิน 50 ไร่ วัดจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ภาษีเงินได้และอากรแสตมป์ แต่กรณีของวัด ก. สำนักงานที่ดินแจ้งให้วัดเสียค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาประเมินที่ดิน โดยอ้างถึงคู่มือการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมภาษีและ อากรในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงหารือว่าในการรับโอนที่ดินของวัดจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโดยไม่มีค่าตอบแทน เข้าลักษณะยกเว้นตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่
       ตอบ  การโอนที่ดินให้วัดโดยไม่มีค่าตอบแทนไม่ได้รับยกเว้นอากร และเนื่องจากวัดไม่ใช่ฝ่ายที่ต้อง เสียอากร จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม  หน่วยงานราชการขอหารือกรณีหนังสือสัญญาให้ที่ดินโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนจะถือเป็น ตราสาร "ใบรับ" ที่ต้องเรียกเก็บอากรแสตมป์หรือไม่ และขอทราบเหตุผลทางข้อกฎหมาย เพื่อกรม ก.และพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้อธิบายให้ผู้ร้องขอได้ถูกต้อง
       ตอบ  การให้ที่ดินโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งมีผู้รับนั้น เมื่อผู้ให้ได้ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดิน (ท.ด.14) ต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินพร้อมทั้งจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือสัญญาให้ดังกล่าวจึงเป็นบันทึกหรือหนังสือใดๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่า ผู้รับได้รับจาก ผู้ให้จึงเข้าลักษณะเป็น "ใบรับ" ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร ดังได้บัญญัติว่า ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่ กำหนดไว้ในบัญชีนั้น สำหรับสัญญาให้ซึ่งถือว่า เป็นใบรับตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ กำหนดให้ผู้ออกใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้น มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ถ้าใบรับนั้นมีจำนวนตั้งแต่สองร้อยบาทขึ้นไปทุกสองร้อยบาทหรือเศษของสองร้อยบาทจะต้องเสีย ค่าอากรแสตมป์หนึ่งบาท ดังนั้น เมื่อมีการให้ที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทนตามสัญญาให้ (ท.ด.14) ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงเป็นผู้ออกใบรับ และเป็นผู้ต้องเสียอากรตามลักษณะแห่งตราสารที่กำหนด ยกเว้นฝ่ายที่ต้องเสียอากรเข้าลักษณะตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากรไม่ต้องเสียอากรแสตมป์

ถาม  กรมสรรพากรได้แจ้งผลการพิจารณาข้อหารือของกรมที่ดิน กรณีเรียกเก็บอากรแสตมป์เป็น ตัวเงินในการจดทะเบียนให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ราย นาย ช. และ นาง ท. ว่าหนังสือสัญญาให้ที่ดินถือเป็นใบรับซึ่งกระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน และได้จดทะเบียนนิติกรรมตามกฎหมาย จึงอยู่ใน บังคับต้องเสียภาษีอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และมาตรา104 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การยกที่ดินให้โดยไม่มีค่าตอบแทนจึงต้องเสียอากรแสตมป์ โดยต้อง เสียค่าอากรแสตมป์จากทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า กรมที่ดินได้แจ้งทางปฏิบัติตามหนังสือตอบข้อหารือดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติแล้ว กรมที่ดินจึงขอหารือว่า สัญญาให้เฉพาะกรณีตามข้อเท็จจริงที่หารือไปเท่านั้นหรือไม่ที่ต้องเสีย อากรแสตมป์ หากเป็นการให้ การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีค่าตอบแทน กรณีอื่น จะต้องเสียอากรแสตมป์ด้วยหรือไม่ เช่น
                 1. การให้ การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการหรือ รัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
                 2. การให้ การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ วัดบาทหลวง โรมันคาทอลิก หรือมัสยิด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
                3. การให้ การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีผลให้ที่ดินนั้นตกเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น โอนหรือแบ่งให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ฯลฯ
                4. การโอนมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมหรือทายาทตามพินัยกรรม
                5. การจดทะเบียนทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ภาระจำยอม สิทธิเก็บกิน สิทธิอาศัย ฯลฯ
                6. การจดทะเบียนโอนสิทธิการไถ่จากการขายฝาก กรณีจดทะเบียนขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ไว้แล้วผู้ขายฝากขอจดทะเบียนโอนสิทธิการไถ่ให้แก่ผู้อื่น
                7. การจดทะเบียนโอนมรดกสิทธิการไถ่จากการขายฝาก กรณีผู้ขายฝากตายแล้วทายาทขอรับ มรดกสิทธิการไถ่
       ตอบ  กรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีค่าตอบแทนตามที่หารือข้อ 1. - 7. หนังสือสัญญาให้ที่ดินดังกล่าวถือเป็นใบรับ ซึ่งกระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน และได้จดทะเบียนนิติกรรมตามกฎหมาย จึงอยู่ในบังคับต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. (ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การยกที่ดินให้โดยไม่มีค่าตอบแทนจึงต้องเสียอากรแสตมป์ โดยต้องเสียค่าอากรแสตมป์จากทุนทรัพย์ในการจดทะเบียน สิทธิและนิติกรรม หรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

ถาม  1. ลูกหนี้โอนสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้อื่น ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างลูกหนี้ทั้งเจ้าหนี้ที่มีฐานะเป็นสถาบันการเงินหรือระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้อื่น ซึ่งทำความตกลงร่วมกับสถาบันการเงินว่า การโอนสิทธิการเช่าเป็นการก่อตั้งสิทธิเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งใบรับสำหรับการก่อตั้งสิทธิดังกล่าวเป็นตราสารลักษณะ 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งผู้โอนในฐานะผู้ออกใบรับเป็นผู้ต้องเสียอากรแสตมป์
                   2. กรณีโอนสิทธิการเช่านั้น หากมีการจดทะเบียนการเช่าใหม่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตาม ลักษณะแห่งตราสาร 1. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
                   3. กรณีการจดทะเบียนเช่าที่ดิน โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หากในวันจดทะเบียน ผู้เช่าได้ชำระเงินกินเปล่าหรือค่าเช่าบางส่วนให้แก่ผู้ให้เช่า ใบรับเงินกินเปล่าหรือใบรับชำระค่าเช่าที่ดินโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ไม่เข้าลักษณะเป็นใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย จึงไม่อยู่ในบังคับต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามลักษณะตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์กรมที่ดินจึงหารือว่า
                   1. การจดทะเบียนเช่าและการโอนสิทธิการเช่าจะต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่ง ตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ หรือไม่
                   2. การได้รับยกเว้นอากรแสตมป์จากการโอนสิทธิการเช่าเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญา ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น ๆ จะหมายความถึงการยกเว้นอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 1. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์หรือไม่
       ตอบ  1. กรณีตาม 1. การโอนสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นกรณีที่ผู้มีสิทธิในการเช่าโอนสิทธิ การเช่าที่ตนมีอยู่ให้บุคคลอื่น ซึ่งผลของการโอนสิทธิดังกล่าวจะทำให้ผู้รับโอนเข้าสวมสิทธิที่ผู้โอนมีอยู่กล่าวคือผู้รับโอนจะเข้าเป็นผู้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวแทนผู้โอน ดังนั้น การโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวจึงเป็น การก่อตั้งสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ระหว่างผู้โอน และผู้รับโอนใบรับสำหรับการก่อตั้งสิทธิดังกล่าว จึงถือเป็นตราสารลักษณะ 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
       ตอบ  2. กรณีตาม 2. ในกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรา 6 และมาตรา 8 แห่ง พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ.2542 กำหนดให้ยกเว้นอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมิได้ระบุให้เป็น การยกเว้นอากรแสตมป์ลักษณะหนึ่งลักษณะใดโดยเฉพาะ จึงเป็นการยกเว้นอากรแสตมป์ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ทั้งหมด

ถาม  นางสาว บ. ยกที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่วัดฯ ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินผู้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งอนุญาตการได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอารามตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว วัด จึงขอยกเว้นการเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารใบรับ
       ตอบ  ผู้ที่ต้องเสียอากรสำหรับตราสารที่คำนวณค่าอากรแสตมป์แล้วต้องเสียค่าอากรแสตมป์ตั้งแต่หนึ่ง บาทขึ้นไป เฉพาะส่วนที่เป็นเศษของบาทได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ตามมาตรา 6(11) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ผู้ที่ต้องเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารใบรับ คือ นางสาว บ. ผู้ยกให้มิใช่วัด กรมสรรพากรไม่มีอำนาจยกเว้นการเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะตราสาร28. (ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ให้แต่อย่างใด

ถาม  นาย ร. ได้ขายที่ดินเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2535 ณ สำนักงานที่ดินอำเภอฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2545 สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือเรียกให้ไปชำระภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินทั้งสองแปลง นาย ร. ได้ไปพบเจ้าหน้าที่ตามนัดและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะที่ค้างโดยไม่ได้ ยื่นแบบคำร้องขอคืนอากรแสตมป์ เนื่องจากไม่ทราบว่าขอรับคืนได้และไม่ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้น ประมาณ 2 เดือนเศษ นาย ร. ได้รับทราบจากญาติซึ่งถูกเรียกให้ไปชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่นเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ยื่นคำร้องขอคืนค่าอากรแสตมป์ได้ เมื่อนาย ร. ติดต่อกลับไปยังสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับคำตอบว่า นาย ร. ไม่สามารถขอรับเงินค่าอากรแสตมป์ คืนได้ เพราะขายอสังหาริมทรัพย์เกิน 10 ปี ทำให้ขาดอายุความในการขอคืนเงินค่าอากรแสตมป์ไปแล้ว นาย ร. จึงขอความเป็นธรรมในการขอคืนเงินค่าอากรแสตมป์ดังกล่าว
       ตอบ  นาย ร. ไม่สามารถขอรับเงินค่าอากรแสตมป์คืน เนื่องจากนาย ร. ขอคืนเงินค่า อากรแสตมป์เกินกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่ได้เสียค่าอากรแสตมป์ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4687/2540

ถาม  ธนาคาร ก จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือขอให้กรมที่ดินพิจารณายกเว้นการจัดเก็บ อากรแสตมป์ ใบรับในการจดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์ที่ธนาคารฯ ได้รับจากการชำระหนี้หรือจากการประกันการให้สินเชื่อหรือจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่จำนองไว้แก่ธนาคารฯ จากการขายทอดตลาดโดย คำสั่งศาล หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งธนาคารฯ จำหน่ายไปเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์ตกเป็นของธนาคารฯ แล้ว โดยอ้างว่าธนาคารฯ ต้องนำรายรับที่ได้จาก การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอยู่แล้ว แต่สาเหตุในการจดทะเบียนขายพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เรียกเก็บอากรแสตมป์ใบรับ เนื่องจากหลักฐานใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20) ของธนาคารฯ ระบุประเภทของกิจการว่า "การธนาคาร" มิใช่ "การขาย อสังหาริมทรัพย์" และทุกครั้งที่ธนาคารฯ ชำระอากรแสตมป์ไปแล้ว ธนาคารฯ จะต้องไปยื่นคำร้องขอคืนอากรแสตมป์จาก กรมสรรพากร เป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรและธนาคารฯ ที่จะต้องดำเนินการคืนอากรแสตมป์ดังกล่าว
              การจดทะเบียนขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเรียกเก็บ อากรแสตมป์ใบรับหรือไม่ อย่างไร และกรณีผู้ออกใบรับรายใดแสดงหลักฐานใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20) ที่ระบุประเภทของการประกอบกิจการเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ประเภท "การค้าอสังหาริมทรัพย์" ผู้ออกใบรับนั้นจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะตราสาร 28. ใบรับ "ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร" แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติ่มโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 หรือไม่
       ตอบ  กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ โดยที่มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ขาย มีหน้าที่เสีย อากรแสตมป์ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร และตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลักษณะตราสาร28. ใบรับซึ่งระบุว่า "ใบรับ เฉพาะตามที่ได้ระบุต่อไปนี้ ...(ข) ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิ ใดๆ เกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฏหมาย"พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บอากรแสตมป์ใบรับ
              แต่เนื่องจากการที่ธนาคารฯ ขายอสังหาริมทรัพย์ตามข้อเท็จจริงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ประมวลรัษฎากร ธนาคารฯ จึงต้องนำรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปเสีย ภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น ใบรับจากการโอนกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จึงได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามลักษณะตราสาร 28. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ หากผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ นั้นได้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้วนับแต่วันที่ได้รับชำระราคาถึงวันโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใน อสังหาริมทรัพย์นั้นแล้วแต่กรณี โดยคำนวณภาษีจากราคาทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนหรือทุนทรัพย์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วแต่ อย่างใดจะมากกว่า และได้นำหลักฐานการเสียภาษีดังกล่าวมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยหลักฐานนั้นแสดงให้เห็นว่าได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเอกสารแสดงสิทธิในอสังหาริมทรัพย์แล้ว เพื่อไม่ให้เป็น ภาระแก่ผู้เสียภาษีที่จะต้องร้องขอคืนเงินค่าอากรแสตมป์ตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากรในภายหลัง เพราะเหตุที่ได้ชำระอากรแสตมป์ในขณะที่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตรวจหลักฐานเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีดังกล่าว และบันทึกไว้ในสัญญาซื้อขายด้วยว่า "ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ตามลักษณะตราสาร 28. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์และได้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ตามใบเสร็จรับชำระภาษี เลขที่...เล่มที่.. ของสำนักงานสรรพากรอำเภอ/เขต..." โดยไม่ต้องเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ในลักษณะ ตราสารดังกล่าวอีก

ถาม  (1) ศาลจังหวัด ก. ได้แจ้งให้ศาลจังหวัด ข. บังคับคดีแทน เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัด ข. ได้ทำการยึดทรัพย์ของ นาง ค ซึ่งเป็นนายประกัน คือ ที่ดิน น.ส.3 ก จำนวน 1 แปลง และได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้แก่ นาย ง. ผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 550,000 บาท เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 ผู้ซื้อได้ชำระเงินครบถ้วนแล้ว
                  (2) ศาลจังหวัด ข ได้หักค่าอากรแสตมป์ร้อยละ 0.50 จากราคาทรัพย์เป็นเงิน 2,750 บาท และนำเงินค่าอากรที่ได้รับชำระนำส่งสำนักงานสรรพากรอำเภอเมือง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2538 โดยยื่นแบบเสียอากรเป็นตัวเงิน (แบบ อส.4) ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่ง บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ระบุผู้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน คือ ศาลจังหวัด ข ใบสลักหลังตราสาร (แบบ อ.ส.5) ระบุชื่อผู้เสียอากร คือ ศาลจังหวัด ข ใบเสร็จรับเงินระบุผู้ชำระภาษีอากร คือ ศาลจังหวัด ข และศาลจังหวัด ข ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบสรุปสาระสำคัญว่า ให้ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนทรัพย์คือที่ดินของนายประกันแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ ซึ่งศาลจังหวัด ข ได้หักค่าอากรแสตมป์ร้อยละ 0.50 จากราคาทรัพย์เป็นเงิน 2,750 บาท ไว้แล้วและจะได้นำส่งสำนักงานสรรพากรอำเภอต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับและ จ่ายเงิน เสนอศาลจังหวัด ข ให้ทราบเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2538 สรุปสาระสำคัญว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 มีการหักค่าอากรแสตมป์นำส่งสำนักงาน สรรพากรอำเภอ เป็นเงิน 2,750 บาท
                 (3) ต่อมาศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษาพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อแถลงขอรับ เงินค่าซื้อทรัพย์พร้อมค่าธรรมเนียม และค่าอากรแสตมป์ที่ศาลจังหวัด ข ได้หักไว้ แต่ศาลจังหวัด ข ได้หักค่าอากรแสตมป์นำส่งสำนักงานสรรพากรอำเภอเมือง ข แล้ว จำนวน 2,750 บาท ศาลจังหวัด ข จึงมีความประสงค์ขอรับเงินจำนวนดังกล่าวคืน เพื่อจะได้รวมเงินคืนแก่ผู้ซื้อต่อไป และคดีถึงที่สุดแล้ว
       ตอบ  การขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี เข้าลักษณะเป็นการ โอนสิทธิหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ใบรับสำหรับการโอนสิทธิหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ผู้ออกใบรับจึงต้องติดอากรแสตมป์ 1 บาท สำหรับจำนวนเงินตั้งแต่ 200 บาท ขึ้นไป ทุก 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ตามลักษณะตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์โดยเจ้าของทรัพย์ที่ถูกขายทอดตลาดต้องชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ในวันที่ ได้ขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น และให้เจ้าพนักงานดังกล่าวนำเงินค่าอากรแสตมป์ที่ได้รับชำระส่งสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 43)ฯ ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545
                  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว และ คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีดังกล่าวจึงไม่มีการโอนสิทธิหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้น และไม่มีกรณีต้องออกใบรับ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ นาง ค จึงไม่มี หน้าที่ต้องชำระค่าอากรแสตมป์ ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อนาย ง ได้ชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงินแทนผู้ขายสำหรับตราสารใบรับไว้ก่อนแล้ว นาย ง มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนค่า อากรแสตมป์ได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันชำระค่าอากรแสตมป์ ตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ตามแบบ ค.10 ณ. สำนักงาน สรรพากรพื้นที่

Source: www.dol.go.th, www.rd.go.th

Copyright (c) 2008 by Vatchara Thamma Land Law Office Company Limited.