สถิติวันนี้ |
28 คน |
สถิติเมื่อวาน |
122 คน |
สถิติเดือนนี้ สถิติปีนี้ สถิติทั้งหมด |
2836 คน 63251 คน 2774779 คน |
เริ่มเมื่อ 2008-11-20 |
|
การจัดการมรดก
1. ถาม มรดก คือ อะไร ตอบ มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ เป็นต้น และยังรนหนี้เงินกู้บุคคลอื่นแต่ยังไม่ชำระ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย หนี้สินดังกล่าวย่อมเป็นมรดกของผู้ตาย เป็นต้น เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้จริง เช่น ผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ก. เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายไป ความเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ก. ก็สิ้นสภาพไปด้วย ไม่อาจตกทอดไปสู่ทายาทของผู้ตายเพราะเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
2. ถาม การจัดการมรดก คือ อะไร ตอบ เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดให้แก่ทายาท หากทายาทไม่สามารถจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือแบ่งปันมรดกของผู้ตาย เช่น ธนาคารไม่ยอมให้ทายาทถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตาย หรือสำนักงานที่ดินไม่ยอมจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงจากชื่อของผู้ตายจนกว่าศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกก่อน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาท เป็นต้น
3. ถาม ใครมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตอบ ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกมี 3 ประเภท ดังนี้ 1. ทายาท ได้แก่ ผู้รับพินัยกรรมและทายาทโดยธรรม ทายาทโดยธรรม แบ่งเป็น 6 ลำดับ คือ 1. ผู้สืบสันดาน (บุตร) 2. บิดา มารดา 3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4. พี่น้องร่วมบืดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน 5. ปู่ ย่า ตา ยาย 6. ลุง ป้า น้า อา สำหรับคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย (ต้องจดทะเบียนสมรส) ที่ยังมีชีวิตอยู่ ถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิยื่นคำขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน
2. ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับกองมรดกของผู้ตาย เช่น ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แต่มีทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตาย เป็นต้น 3. พนักงานอัยการ ซึ่งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจจะร้องขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลแทนตนเองได้
4. ถาม คำร้องต้องยื่นที่ศาลใด ตอบ ศาลที่มีอำนาจในการไต่สวนคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก คือ ศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย หากผู้ตายไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่ในเขตศาล ซึ่งศาลที่จะยื่นได้มีดังนี้ - ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี หรือศาลจังหวัดมีนบุรี แล้วแต่กรณี - ในต่างจังหวัด ได้แก่ ศาลจังหวัด
5. ถาม ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ตอบ คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกมีดังนี้ 1. ต้องบรรลุนิติภาวะ หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป 2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ 3. ไม่เป็นบุคคลล้มละลายตามคำสั่งของศาล
6. ถาม เอกสารประกอบที่ใช้ยื่นคำร้องต่อศาลมีอะไรบ้าง ตอบ เอกสารที่ต้องใช้ประกอบในการยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกมีดังนี้ 1. หลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส สูติบัตร เป็นต้น 2. มรณบัตร หรือหนังสือรับรองการตาย 3. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตาย 4. หลักฐานซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก. หรือ น.ส. 3) สมุดเงินฝากธนาคาร ทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น 5. บัญชีเครือญาติ 6. หนังสือยินยอมของทายาทให้ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก 7. ในกรณีเป็นการร้องขอให้บุคคลอื่น (ไม่ใช่ผู้ร้อง) เป็นผู้จัดการมรดกต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลนั้นด้วย 8. พินัยกรรม (ถ้ามี)
7. ถาม ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกด้วยตนเองมีอย่างไร ตอบ การยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองโดยมีขั้นตอนดังนี้ 1. ยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกพร้อมสำเนาเอกสารประกอบคำร้องและบัญชีพยานต่อเจ้าหน้าที่ศาลที่งานรับฟ้อง 2. ขอประกาศหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งการขอตั้งผู้จัดการมรดก 3. เมื่อศาลรับคำร้องแล้วจะนัดไต่สวนคำร้อง ซึ่งวันนัดไต่สวนเจ้าหน้าที่ศาลจะเป็นผู้กำหนดว่าเป็นวันและเวลาใด ผู้ร้องขอทราบวันนัดได้ในวันที่มายื่นคำร้อง 4. ในวันและเวลานัดไต่สวน ผู้ร้องต้องนำพยานตามที่ระบุในบัญชีพยานมาให้ศาลไต่สวน หากเป็นพยานเอกสารต้องนำเอกสารที่เป็นต้นฉบับมาแสดงต่อศาลด้วยเสมอ หากชื่อหรือสกุลของผู้ตายหรือผู้ร้องมีหลายชื่อหรือเขียนไม่เหมือนกัน ให้ผู้ร้องนำหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกันจากนายทะเบียนมาแสดงต่อศาลด้วย
8. ถาม ค่าใช้จ่ายในการยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกมีเพียงใด ตอบ ค่าใช้จ่ายมีดังนี้ 1. ค่าใช้จ่ายในวันยื่นคำร้อง - ค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท - ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท - ค่าส่งประกาศขขอตั้งผู้จัดการมรดกไปปิดยังสถานที่ต่าง ๆ โดยเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งศาลแต่ละแห่งกำหนดไว้ตามระยะทาง 2. ค่าใช้จ่ายในวันไต่สวน - ค่าอ้างเอกสารฉบับละ 5 บาท - ค่ารับรองคดีถึงที่สุด ฉบับละ 15 บาท - ค่ารับรองสำเนาคำสั่งศาล ฉบับละ 20 บาท
Source:กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม |