การขอออกใบแทนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน
ในกรณีโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินเป็นอันตรายทั้งฉบับหรือสูญหาย เจ้าของที่ดินจะต้องไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอให้ออกใบแทนให้ ในการออกใบแทนโฉนดที่ดิน ให้ดำเนินการดังนี้
- ในกรณีโฉนดที่ดินเป็นอันตรายหรือสูญหาย ให้เจ้าของที่ดินยื่นคำขอและปฏิญาณต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยให้นำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนจนเป็นที่เชื่อถือได้ และให้เจ้าพนักงานที่ดินประกาศให้ทราบมีกำหนดสามสิบวัน ประกาศนั้นให้ปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอท้องที่ ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่ และในบริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลอีกฉบับ ถ้ามีผู้ตัดค้านภายในเวลาที่กำหนดและนำพยานหลักฐานมาแสดง ให้เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนแล้วสั่งการไปตามแต่กรณี ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านภายในเวลาที่กำหนดให้ออกไปแทนไปตามคำขอ
- ในกรณีโฉนดที่ดินชำรุด ถ้าเจ้าของที่ดินนำโฉนดที่ดินที่ชำรุดนั้นมามอบและโฉนดที่ดินที่ชำรุดนั้นยังมีตำแหน่งที่ดิน เลขที่โฉนดที่ดิน ชื่อและตราประจำตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด และหรือชื่อและตราประทับประจำตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินตามแบบโฉนดที่ดินปรากฏอยู่ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ให้ออกใบแทนให้ไปได้ ถ้าขาดข้อความสำคัญดังกล่าวให้นำข้อ 1. มาใช้บังคับ
- ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดเกี่ยวกับโฉนดที่ดินหรือผู้ใดมีสิทธิจดทะเบียนตามคำพิพากษาของศาล แต่ไม่ได้โฉนดที่ดินมาหรือโฉนดที่ดินเดิมเป็นอันตราย ชำรุดหรือสูญหายด้วยประการใด ให้ผู้มีสิทธิจดทะเบียนยื่นคำขอออกใบแทน แล้วให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1. หรือข้อ 2. แล้วแต่กรณี
- ในกรณีเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจในการยึดและขายทอดตลาดที่ดินของผู้ค้างชำระภาษีอากรหรือเงินค้างจ่ายใด ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังกล่าวซึ่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจได้ยึดมาขายทอดตลาดแล้ว แต่ไม่ได้โฉนดที่ดินมา หรือโฉนดที่ดินเดิมเป็นอันตราย ชำรุดหรือูญหายด้วยประการใด ให้ถือหนังสือของเจ้าพนักงานดังกล่าวเป็นคำขอและดำเนินการทำนองเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ 3. แต่ไม่ต้องสอบสวน
- ในกรณีอธิบดีจะใช้อำนาจจำหน่ายที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ไม่ได้โฉนดที่ดินมา หรือโฉนดที่ดินเดิมเป็นอันตราย ชำรุด หรือสูญหายด้วยประการใด ให้ดำเนินการทำนองเดียวกับข้อ 4. ทุกประการ แต่ไม่ต้องสอบสวน
- ในกรณีอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดิน เพิกถอนหรือแก้ไขรายการจดทะเบียนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528 แต่ไม่ได้โฉนดที่ดินมาหรือโฉนดที่ดินเป็นอันตราย ชำรุดหรือสูญหายด้วยประการใด ให้ดำเนินการทำนองเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ 4. แต่ไม่ต้องสอบสวน
- ในกรณีไม่ได้โฉนดที่ดินมาตามข้อ 3. ข้อ 4. ข้อ 5. และข้อ 6. ให้ถือว่าโฉนดที่ดินสูญหาย
เมื่อออกโฉนดที่ดินไปแล้ว โฉนดที่ดินเดิมเป็นอันยกเลิก เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ถ้าเป็นโฉนดที่ดินชำรุด เจ้าพนักงานที่ดินจะเรียกฉบับที่ชำรุดมาทำลายเสีย ถ้าโฉนดที่ดินสูญหาย ก็ถือว่าโฉนดที่ดินเดิมยกเลิก
หลักฐานประกอบการขอออกใบแทน
- กรณีโฉนดที่ดินชำรุด ถ้ามีหลักฐานตรวจสอบได้ คือ มีตำแหน่งที่ดิน เลขที่โฉนดที่ดิน ชื่อและตรา
ประจำตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด และ/หรือชื่อและตราประจำตำแหน่ง ของเจ้าพนักงานที่ดินตามลักษณะของแบบโฉนดที่ดิน
- กรณีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ชำรุด การตรวจสอบหลักฐานให้อนุโลมตามข้อ 1
- กรณีตามข้อ 1 และข้อ 2 จะต้องมีหลักฐานประกอบ คือ
- โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ชำรุด
- บัตรประจำตัวผู้ขอ
- ทะเบียนบ้าน
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
- กรณีโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นอันตรายสูญหายหรือชำรุดไม่สามารถตรวจสอบหลักฐานได้ นอกจากมีหลักฐานดังกล่าวข้างต้นแล้วจะต้องดำเนินการและมีหลักฐานดังนี้ด้วย
- ต้องนำพยานที่เชื่อถือได้และ/หรือรู้เห็นการสูญหายของโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อย่างน้อย 2 คนไปให้เจ้าหน้าที่สอบสวนและพยานต้องนำบัตรประจำตัวไปแสดงด้วย
- กรณีสูญหาย เนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญา ให้นำหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไปประกอบคำขอด้วย
- ถ้าเป็นกรณีศาลสั่งหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายขอให้ออกใบแทนให้นำคำสั่งหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุด หรือหนังสือร้องขอไปด้วย
ขั้นตอนการขอออกใบแทน
- รับบัตรคิวจากประชาสัมพันธ์
- เจ้าหน้าที่รับคำขอและสอบสวน
- ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจหนังสือมอบอำนาจ และพิจารณาสั่งการ
- ลงบัญชีรับทำการ
- ตรวจอายัด
- เขียนใบสั่ง ใบเสร็จและรับเงินค่าธรรมเนียมคำขอ
- พิมพ์ประกาศ กรณีโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นอันตรายหรือสูญหาย
- เจ้าของที่ดินรับประกาศและนำเจ้าหน้าที่ไปปิดประกาศ
- ประกาศแจกที่ดินให้ปิดในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอท้องที่ ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่และในบริเวณที่ดินนั้น แห่งละหนึ่งฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลอีกหนึ่งฉบับ
- ประกาศครบกำหนด 30 วัน ไม่มีผู้โต้แย้งคัดค้าน เบิกแบบพิมพ์ดำเนินการสร้างใบแทน
- เสนอเจ้าพนักงานที่ดินพิจารณาลงนามในใบแทน และแจ้งเจ้าของที่ดินมารับใบแทน
- แจกใบแทนให้เจ้าของที่ดิน
ค่าธรรมเนียมการออกใบแทน
- ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท
- ค่าประกาศแปลงละ 10 บาท (กรณีที่ต้องมีการประกาศ)
- ค่าปิดประกาศให้แก่ผู้ปิดประกาศ แปลงละ 10 บาท
- ค่าออกใบแทนโฉนดที่ดินฉบับละ 50 บาท
- ค่าออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับละ 50 บาท
- ค่ามอบอำนาจ กรณีที่มีการมอบอำนาจ เรื่องละ 20 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ปิดใบมอบอำนาจ ฉบับละ 30 บาท
- ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท
- ค่าประกาศแปลงละ 10 บาท (กรณีที่ต้องมีการประกาศ)
- ค่าปิดประกาศให้แก่ผู้ปิดประกาศ แปลงละ 10 บาท
- ค่าออกใบแทนโฉนดที่ดินฉบับละ 50 บาท
- ค่าออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับละ 50 บาท
- ค่ามอบอำนาจ กรณีที่มีการมอบอำนาจ เรื่องละ 20 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ปิดใบมอบอำนาจ ฉบับละ 30 บาท
หมายเหตุ การออกใบแทนหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ใบไต่สวน และใบจอง ให้นำวิธีดำเนินการในการออกใบแทนโฉนดที่ดินมาใช้บังคับโดยอนุโลม
คำถาม-คำตอบที่ควรรู้
ถาม โฉนดที่ดินของนิติบุคคล(ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล;ห้างหุ้นส่วนจำกัด;บริษัทจำกัด;บริษัทมหาชนจำกัด) สูญหายจะขอออกใหม่มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนอย่างไรค่าใช้จ่ายเท่าไหร่รอรับได้เลยหรือไม่?
ตอบ การออกโฉนดที่ดินใหม่หลักเกณฑ์และขั้นตอนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินกำหนดไว้โดยมาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 การขอออกใบแทนโฉนดที่ดินกรณีสูญหาย เจ้าของที่ดินจะต้องไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยนำพยานบุคคลอย่างน้อย 2 คน ไปให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนจนเป็นที่เชื่อถือได้ ถ้าเป็นกรณีสูญหายเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญา เช่น ถูกลักขโมย เป็นต้น ต้องนำหลักฐานการแจ้งความไปประกอบการขอออกใบแทนด้วย ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจะประกาศการออกใบแทนให้ทราบมีกำหนด 30 วัน โดยปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานท้องที่ สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการกิ่งอำเภอท้องที่ ที่ทำการแขวงหรือที่ทำการกำนันท้องที่ และในบริเวณที่ดินแห่งละหนึ่งฉบับ ในเขตเทศบาลให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาลอีกฉบับหนึ่ง ถ้ามีผู้คัดค้านภายในเวลาที่กำหนด และนำพยานหลักฐานมาแสดง เจ้าพนักงานที่ดินจะทำการสอบสวน แล้วสั่งการไปตามควรแก่กรณี ถ้าไม่มีผู้คัดค้านภายในเวลาที่กำหนด เจ้าพนักงานที่ดินก็จะออกใบแทนให้ไปตามคำขอ กสนขอออกใบแทนโฉนดที่ดินมีขั้นตอนดำเนินการตามนัยดังกล่าว จึงไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จภายในวันเดียวได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการออกใบแทนโฉนดที่ดินจะเรียกเก็บตามกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 คือ ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท ค่าออกใบแทนโฉนดที่ดินฉบับละ 50 บาท ค่าประกาศแปลงละ 10 บาท ค่าปิดประกาศให้แก่ผู้ปิดประกาศแปลงละ 10 บาท ค่าพยานให้แก่พยานคนละ 10 บาท (พยาน 2 คน) ค่ามอบอำนาจกรณีที่มีการมอบอำนาจ เรื่องละ 20 บาท (ไม่รวมค่าอากรแสตมป์ติดใบมอบอำนาจ)
ถาม โฉนดที่ดินหาย ต้องแจ้งความหรือไม่?ดิฉันทำโฉนดที่ดินสองฉบับหาย ทั้งสองฉบับไม่มีสำเนาโฉนดที่ดิน ฉบับหนึ่งมีจดหมายจากสำนักงานที่ดินเกี่ยวกับเรื่องการระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองเขตที่ดินอยู่ และฉบับที่สองมีทะเบียนบ้านอยู่ ดิฉันจำเป็นต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจหรือไม่ (โฉนดหายคือ หาไม่เจอ ไม่ได้ถูกลักโขมยหรือมีคดีอาญาอะไรทั้งสิ้น) ข้อที่สอง พยานสองคนที่ต้องนำไปด้วย เป็นสามีและพี่สาวได้หรือไม่ (พี่สาวของดิฉันรับราชการเป็นอาจารย์ที่จุฬาอยู่ ส่วนสามีไม่ได้รับราชการ ทำธุรกิจส่วนตัว) กรุณาชี้แจ้งข้อสงสัยด้วยค่ะ
ตอบ กรณีโฉนดที่ดินสูญหาย สามารถขอใบแทนโฉนดที่ดินได้โดยไม่ต้องแจ้งความ ส่วนพยานบุคคล 2 คนที่เป็นพยาน ตามระเบียบใช้คำว่าผู้ที่เชื่อถือได้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ย่อมใช้ได้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าน้ำหนักความเชื่อถือน้อยก็ต้องหาพยานเพิ่มเติม
ถาม ในกรณีที่สามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ขณะยังอยู่ด้วยกันได้ยกห้องชุดให้เป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ หลังจากเลิกกันสามีได้ถือโฉนดห้องชุดไว้ และได้เข้าไปอยู่อาศัย ในกรณีนี้สามีสามารถถือสิทธิ์ครอบครองห้องชุดดังกล่าวได้หรือไม่ หากต้องการโฉนดใบใหม่เพื่อถือครองไว้เองจะทำทำได้หรือไม่ อย่างไร (เหตุผลในการขอออกโฉนดใบใหม่เพราะเกรงว่า ทางสามีจะถือสิทธิ์ครอบครอง) ขอบคุณค่ะ
ตอบ กรณีสามี (โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยสมบูรณ์แล้ว กรรมสิทธิ์ในห้องชุดย่อมตกเป็นของภรรยา การที่สามีถือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดไว้ และได้เข้าไปอยู่อาศัยไม่เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดนั้นตกกลับมาเป็นของสามีอีกแต่อย่างใด เว้นแต่จะได้มีการโอนกรรมสิทธิ์คืนให้แก่สามี ส่วนการที่จะขอหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดฉบับใหม่แทนฉบับเดิมจะต้องเป็นกรณีที่หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดสูญหายหรือชำรุดหรือศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ห้องชุด แต่ผู้ยื่นคำขอไม่สามารถนำหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดมา เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลได้ ฯลฯ เมื่อกรณีปรากฎว่า หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดมิได้สูญหาย แต่เก็บอยู่ที่สามี จึงไม่สามารถออกใบแทนได้
ถาม โฉนดที่ดินที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์เสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังไม่ได้โอนให้กับทายาทหายไป ขั้นตอนในการขอให้ออกโฉนดใหม่และโอนกรรมสิทธิ์ให้กับทายาทควรทำอย่างไร และใช้เอกสารอะไรบ้าง
ตอบ กรณีที่โฉนดที่ดินที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์เสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังไม่ได้โอนให้แก่ทายาทหายไป จะต้องยื่นคำขอต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสาขาที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ เพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินให้ โดยทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน พร้อมกับยื่นรับโอนมรดกในคราวเดียวกัน โดยนำหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของทายาทผู้รับมรดก และใบมรณบัตรของเจ้าของมรดก พร้อมกับนำพยานที่เชื่อถือได้สองคนไปให้ถ้อยคำรับรองว่า การให้ถ้อยคำของผู้ขอน่าเชื่อถือและเป็นเจ้าของที่ดินจริง ถ้าเป็นกรณีที่โฉนดที่ดินสูญหายเนื่องจากการกระทำผิดทางคดีอาญา เช่นถูกลักขโมย ถูกฉกชิงวิ่งราวทรัพย์ เป็นต้น จะต้องนำหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไปประกอบคำขอด้วย ถ้าได้มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้แล้ว ก็ให้ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ยื่นคำขอโดยทายาทไม่ต้องดำเนินการเอง
ถาม การดำเนินการออกใบแทนที่ดิน แทนฉบับเดิมที่สูญหาย นั้น ผู้รับจำนองได้สืบค้นและได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว และได้ให้ความยินยอมแก่ผู้จำนองในการดำเนินการแล้ว จะต้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย ไปพร้อมกันและยื่นคำร้องต่อ เจ้าพนักงานที่ดินหรือไม่ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องใช้ระยะเวลา กี่วัน ในการดำเนินการ ซึ่งนับจากวันที่ใด เป็นหลักในการคำนวณ อีกทั้งในวันที่รับใบแทน จะต้องให้ฝ่ายใดไปรับเอกสารสิทธิ หรือต้องทั้ง 2 ฝ่ายไปพร้อมกันด้วย
ตอบ กรณีของท่านผู้จำนองจำนองจะต้องเป็นผู้ยื่นคำขอออกใบแทนเพราะถือว่ายังคงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิในที่ดินส่วนผู้รับจำนองจะต้องเป็นผู้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในฐานะพยาน ผู้จำนองกับผุ้รับจำนองควรจะไปพร้อมกันในวันยื่นคำขอออกใบแทนและเมื่อดำเนินการออกใบแทนเสร็จแล้ว ผู้จำนองก็จะต้องเป็นผู้ไปรับใบแทนหรืออาจมอบอำนาจให้ผู้รับจำนองหรือบุคคลอื่นไปรับใบแทนก็ได้เช่นกัน
Source: www.dol.go.th