สถิติวันนี้ |
24 คน |
สถิติเมื่อวาน |
67 คน |
สถิติเดือนนี้ สถิติปีนี้ สถิติทั้งหมด |
3990 คน 64405 คน 2775933 คน |
เริ่มเมื่อ 2008-11-20 |
|
คณะกรรมการอาคารชุด คือ ใคร
คำถาม-คำตอบที่ควรรู้
ถาม อาคารชุดจำเป็นต้องมีคณะกรรมการอาคารชุดทุกอาคารชุดหรือไม่ ตอบ เดิม ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่บังคับให้อาคารชุดต้องมีคณะกรรมการควบคุมการจัดการอาคารชุดทุกอาคารชุดจะจัดให้มีหรือไม่มีก็ได้ ถ้าจัดให้มีต้องไม่เกินเก้าคน และกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องนำรายชื่อคณะกรรมการไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 กฎหมายกำหนดให้ทุกอาคารชุดต้องจัดให้มีคณะกรมการนิติบุคคลอาคารชุด ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินเก้าคน การแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้ง การแต่งตั้งกรรมการมีผลนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่มีมติแต่งตั้ง แต่อาจใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้หากไม่นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ถาม ใครบ้างมีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ตอบ ตามมาตรา 37/1 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 บัญญัติให้บุคคลดังต่อไปนี้ มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ (1) เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม (2) ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี (3) ตัวแทนของนิติบุคคลจำนวนหนึ่งคน ในกรณ๊ที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม ในกรณีที่ห้องชุดใดมีผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมหลายคน ให้มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจำนวนหนึ่งคน
ถาม กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละกี่ปี ตอบ กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ เว้นแต่ไม่อาจหาบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งได้
ถาม เมื่อกรรมการครบกำหนดตามเวลาแล้ว ระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ใครเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่แทนกรรมการดังกล่าว ตอบ เมื่อครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว หากยังไม่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
ถาม ใครเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการ ตอบ กรรมการแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 44 คือ ได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม โดยมีองค์ประชุมคือ หนึ่งในสี่ของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมด ในกรณีที่เจ้าของร่วมมาไม่ครบองค์ประชุม คือ มีผู้มาประชุมคะแนนเสียงรวมกันไม่ถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด ให้เรียกประชุมใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเรียกประชุมครั้งก่อน และการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม
ถาม การแต่งตั้งกรรมการมีผลเมื่อใด ตอบ มีผลเมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติแต่งตั้ง แต่อาจไม่สามารถใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ หากยังไม่นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เ
ถาม ถ้าผู้จัดการไม่นำมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมไปจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสามสิบวัน ผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร ตอบ มติของที่ประชุมเจ้าของร่วมยังมีผล แต่ผู้จัดการมีโทษฐานฝ่าฝืนมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ถาม คุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการมีอย่างไรบ้าง ตอบ บุคคลซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (1) เป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (2) เคยถูกที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ หรือถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการเพราะเหตุทุจริต หรือมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี (3) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ฐานทุจริตต่อหน้าที่ (4) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ถาม กรรมการมีหน้าที่อย่างไร ตอบ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) ควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด (2) แต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ในกรณีที่ไม่มีผู้จัดการ หรือผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติได้เกินเจ็ดวัน (3) จัดประชุมคณะกรรมการหนึ่งครั้งในทุกหกเดือนเป็นอย่างน้อย (4) หน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (5) ปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎกระทรวงกำหนดหน้าที่ของกรรมการแต่อย่างใด
(6) ฟ้องบังคับชำระหนี้จากเจ้าของร่วมที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 เกินหกเดือนขึ้นไป
ถาม การถอดถอนผู้จัดการ (ชั่วคราว) ที่เป็นกรรมการ แต่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ต้องใช้มติคะแนนของเจ้าของร่วมเท่าไร ตอบ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการไม่ใช่ผู้จัดการ เพียงแต่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการไปทำหน้าที่ผู้จัดการในกรณี 1. ไม่มีผู้จัดการ 2. มีผู้จัดการ แต่ผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้เกินเจ็ดวัน ดังนั้น เมื่อมีการแต่งตั้งผู้จัดการแล้ว หรือผู้จัดการที่มีอยู่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติแล้ว กรรมการดังกล่าวก็พ้นจากหน้าที่ผู้จัดการทันที โดยไม่ต้องใช้มติถอดถอนจากเจ้าของร่วม
ถาม การเปลี่ยนตัวกรรมการเพื่อทำหน้าที่ผู้จัดการ กระทำได้หรือไม่ ตอบ กระทำได้โดยใช้มติเสียงข้างมากของคณะกรรมการ ในกรณีนี้ไม่สามารถใช้มติคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการให้มาทำหน้าที่ผู้จัดการได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กรรมการดังกล่าวพ้นจากหน้าที่จากการเป็นผู้จัดการทันทีที่นับแต่เสียงข้างมากของคณะกรรมการมีมติให้เปลี่ยนตัวกรรมการเพื่อทำหน้าที่ผู้จัดการ และกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
ถาม คณะกรรมการต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติอาคารชุดฯ ในกรณีไหนบ้าง อย่างไร ตอบ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุดฯ ไม่ได้กำหนดโทษสำหรับคณะกรรมการไว้แต่อย่างใด คงกำหนดบทลงโทษไว้เฉพาะประธานกรรมการ ดังนี้ กรณีที่ 1 ประธานไม่จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการตามคำร้องขอของกรรมการตั้งแต่สองคนขึ้นไป ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท กรณีที่ 2 ประธานไม่จัดประชุมคณะกรรมการทุกหกเดือน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ถาม กรรมการนิติบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 (4 กรกฎาคม 2551) มีผลอย่างไร ตอบ กฎหมายกำหนดให้ดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบตามวาระที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ หรือจนกว่าที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมจะมีมติแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่
Source: สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กรมที่ดิน
|