สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน กฏหมายที่ดิน,กฏหมายอาคารชุด

       

   สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน  

สำนักงานวัชรธรรมทนายความฯ ยินดีให้บริการท่านด้วยประสบการณ์ในวิชาชีพ ให้คำปรึกษาทำโครงการบ้านจัดสรร คอนโด ขาย สร้าง โอน ครบวงจร                                                                                                                                                                                                                                                                    
 

   

    





 สถิติวันนี้ 71 คน
 สถิติเมื่อวาน 76 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2536 คน
29327 คน
2740855 คน
เริ่มเมื่อ 2008-11-20


คำกล่าวนำสมุดเยี่ยมชม
คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สมุดเยี่ยมชม


ขอคำปรึกษาเรื่องนิติบุคคลอาคารชุดครับ
ผม อยากขอเรียนปรึกษา เรื่อง นิติบุคคล อาคารชุดหน่อยครับ
1. มีการประชุมเพื่อเลือกผู้จัดการนิติจากที่ประชุมเจ้าของร่วมฯ แต่เลือกไม่ได้จึงต้อง นำคณะกรรมการ 1 คน มาเป็นแทน อยากถามว่า ผู้จัดการที่เลือกจากรรมการโดยกรรมการ จะเป็นได้กี่วัน และจะต้องเลือกตั้ง ผู้จัดการนิติฯ ใหม่ภายในกี่วันครับ
2 ต่อจ่ากข้อหนึ่ง ถ้ามีการนำรายชื่อ ผู้จัดการที่มาจากการเลือกของคณะกรรมการ ในวันที่ 25/08/52 ไปจดที่สำนักงานเขต ในวันที่ 5 มกราคม 2553 จะจดได้ไหม แล้ว นิติกรรมที่ ผู้จัดการคนนี้ที่ไม่ได้มาจาการเลือกของท่านเจ้าของร่วมฯ ก่อนที่จะมีการยื่นของจดที่สำนักงานเขต จะผิดกฏหมายหรือโมฆะ หรือไม่
3. ในคอนโด ผม มีข้อบังคับที่ได้เขียนโดย เจ้าของโครงการและนิติบุคคลจากโครงการ ข้อ9.3หน้า 5 เรื่องการขึ้นค่าส่วนกลาง จากเดืม ในปี 2552 จัดเก็บ 30 บาท/ตรม เป็น 32 บ.ในปี53 ปละ 34 บ. ในปี54 แต่ลูกบ้านทั้งหมดไม่ได้รับแจ้งจาก นิติ ชุดใหม่เลย เพียงแต่ได้รับจดหมายทวงค่าส่วนกลางโดยให้ไปเสีย ในอัตรา 32 บ. เลยภายใน31/01/53 นี้ โดยไม่มีการชี้แจงหรือติดประกาศให้ทราบเลย รวมถึงไม่บอกว่าขึ้นตามข้อบังคับข้อนี้ให้ระเอียดว่า จะขึ้นกี่ครั้งหรือจะขึ้นครั้งเดียว จะผิดกฏหมายหรือไม่
4. การที่คณะกรรมการอนุมัติให้ เอาเงินส่วนกลางไปซื้อ โทรศัทพ์มือถือและกล้องถ่ายรูปให้ กับนิติบุคคลรายใหม่ โดยนิติบุคคลรายนั้นได้ค่าบริหารจัดการทุกเดือน จะผิดกฎหมายหรือไม่
5. เนื่องจาก นิติบุคคล รายเดืมที่เป็นคนของโครงการโดนปลด ออกในวันที่ 23 สิหา 2552 แต่ภายในวันที่ 26 สิงหา 52 ก็ได้นิติรายใหม่ที่เป็นรายปัจจุบันมาทันทีเลย เท่ากับว่าเอาพวกเดียวกันมาทำงานเลยทันที จะแก้ไขอย่างไรได้ครับ
6. คณะกรรมการชุดนี้ โดยเฉลี่ย จะไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่จะมีที่ปรึกษา อยู่ 1 คนที่เป็นแผนกับกรรมการหญิง คนหนึ่ง แต่ไม่ได้จดทะเบียนกัน และที่ปรึกษารายนี้ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของร่วมเลยฯ แต่อยู่เบื้องหลังคอยสั่งการ คณะกรรมการและ นิติบุคคบ ชุดใหม่ได้ ตามใจ ถ้าเราอยากเช็คประวัติ คนคนนี้จะทำได้ไหมครับ เพราะเท่าที่รู้มาเขาเคยทำงานในบริษัทที่รับจ้างบริหารคอนโดอยู่ แต่สร้างปัญหาอะไรบางอย่าง
7. ถ้าผมอยากจะขอจ้างทนายความ ต่อสู้เรื่องดังกล่าว จะได้ไหมครับ และรมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่


และการที่มี ยามในคอนโด นั้นจด พฤติกรรมการเข้าออกและการใช้ชีวิตอยู่ของเจ้าของ ร่วมเพื่อรายงานต่อ คนที่อยู่เบื้อหลัง คณะกรรมการ ผิดหรือไม่  เช่น  รายงานว่า ห้อง 9 มีใครมา เข้าออกกี่โมง เปิดประตูไว้ทั้งที่นอนหลับอยู่  หรือ คอยแอบฟังการ สนทนา กันของห้องแต่ละห้องแล้วเขียนรายงานเสนอนาย ของมัน พอดีผมมีหลักฐานเรื่อง บันทึกของ ยามอยู่  ด้วยครบ จะสามารถดำเนินคดีได้ไหม ครับ  และอีกเรื่องพอดีเขาเปิด web bord เอาไว้ที่ Web ชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยใช้ชื่อคอนโด แห่งนี้เป็นเจ้าของห้อง มีผู้ที่อยู่อาสัยในคอนโดแห่งน้ำจำนวนหนึ่ง มา Post ข้อความ อยู่บ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นพวกของ คณะกรรมการ จะมีการเยินยอ กันเองว่าดีเลิศ ต่าง ๆ นา นา  แต่พอมีใครไม่เห็นด้วย ก็จะถูกรุ่ม post ด่าและประนาม ว่าเป็นคนบ่อนทำลายความสงบสุข ของ  คอนโด แห่งนี้  เราจะดำเนินการได้อย่างไรครับ  และสุดท้าย ทราบข่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ จะเอาเงินส่วนกลาง ไปว่าจ้าง บริษัท cable TV มาวางระบบให้คอนโดแห่งนี้มี cable TV ทั้งที่คอนโดแห่งนี้มีระบบ TV ผ่านจานดาวเทียมเป็น พื้นฐานอยู่แล้ว เพื่อสนองต่อบุคคลที่ไม่มีปัญญา จะติด true visions และการเอาเงินส่วนกลางไปใช้  จะสมควรไหมครับ และเราจะแก้ไขอย่างไรครับ
โดย นาย ธาตรี ดำรงสันติสุข อี-เมล์ นาย ธาตรี  ดำรงสันติสุข เบอร์โทรศัพท์. นาย ธาตรี ดำรงสันติสุข IP: xxx [ 2010-01-19 ]

คำตอบจาก Webmaster

3. หากเป็นการเรียกเก็บค่าส่วนกลางตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว ย่อมไม่เป็นการผิดกฎหมาย


4. การที่คณะกรรมการอนุมัติให้เอาเงินส่วนกลางไปซื้อมือถือและกล้องถ่ายรูปให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดรายใหม่ก็ดี การว่าจ้างบริษัท Cable TV มาวางระบบในคอนโดของคุณก็ดี คณะกรรมการฯ จะมีอำนาจทำได้หรือไม่เพียงใด คงจะต้องพิจารณาจากข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดว่าได้ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ไว้หรือไม่


5. หากข้อบังคับระบุว่า ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็น บริษัท A โดยนาย ก.เป็นผู้ดำเนินการแทนในฐานะผู้จัดการ ตอมาเจ้าของโครงการเปลี่ยนจากนาย ก. เป็นนาย ข. เช่นนี้ย่อมสามารถทำได้ เพราะมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการนิติบุคคล แต่หากในข้อบังคับระบุว่า ผู้จัดการเป็นบุคคลธรรมดาคือนาย ก. ต่อมาเจ้าของโครงการเปลี่ยนเป็นนาย ข. โดยพละการ กล่าวคือ ไม่ผ่านการแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด เช่นนี้ เจ้าของโครงการไม่สามารถทำได้


6. เป็นสิทธิของคุณที่จะดำเนินการตรวจสอบประวัติได้ ตราบเท่าที่ไม่ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ถูกตรวจสอบประวัติ


7. คุณมีสิทธิที่จะว่าจ้างทนายความต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ ส่วนค่าใช้จ่ายผมไม่ทราบ ต้องแล้วแต่ทนายความที่รับทำงานให้คุณ


 

โดยคุณ วัชรพล ส่งเมล์ถึง วัชรพล [ 2010-01-20 ] ตอบ 205

1. กรณีดังกล่าวเป็นการที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดใช้อำนาจแต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ (ชั่วคราว) ในกรณีที่ไม่มีผู้จัดการ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 38 (2) แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ซึ่งกรรมการที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการชั่วคราวนี้จะเป็นได้กี่วันนั้น กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ โดยความเห็นส่วนตัวแล้วเห็นว่า จะเป็นผู้จัดการชั่วคราวไปจนกว่าที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมจะลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด (ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2551 หากที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมลงมติแต่งตั้งเมื่อใด กรรมการที่ทำหน้าที่ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด (ชั่วคราว) ที่คณะกรรมการฯ แต่งตั้งก็พ้นจากหน้าที่ทันที  ซึ่งคุณอาจใช้สิทธิร่วมกับเจ้าของร่วมคนอื่นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดแจ้งต่อคณะกรรมการฯ ให้เปิดประชุมวิสามัญเพื่อแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดคนใหม่ได้ ซึ่งคณะกรรมการฯ จ้องจัดประชุมภายใน 15 วัน หากไม่จัด เจ้าของร่วมที่เข้าชื่อเรียกประชุมมีสิทธิจัดประชุมวิสามัญเองได้ โดยแต่งตั้งเจ้าของร่วมคนหนึ่งเป็นตัวแทนในการออกหนังสือเชิญประชุม ตามความในมาตรา 42/2


2. กรรมการที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดแต่งตั้งขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการนั้น ไม่ต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่ผู้จัดการเป็นการชั่วคราวเท่านั้น และกรรมการคนดังกล่าวก็มิใช่ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้รับแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม กฎหมายอาคารชุดบังคับให้ผู้จัดการที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเท่านั้นที่จะต้องนำสัญญาจ้างหรือหลักฐานการแต่งตั้งไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับจากวันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้ง (มาตรา 35/2) นิติกรรมที่ผู้จัดการชั่วคราวทำไม่เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นผู้จัดการโดยการแต่งตั้งของคณะกรรมการฯ ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งตามกฎหมาย เมื่อการแต่งตั้งชอบด้วยกฎหมาย กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งก็มีอำนาจในฐานะเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามที่กฎหมายระบุอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไว้ กล่าวคือ เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุด แต่หากผู้จัดการฯ ทำนิติกรรมใดที่ฝ่าฝืนต่อวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุดและทำให้นิติบุคคลอาคารชุดเสียหาย ก็อาจจะต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวได้ แต่หากผู้จัดการท่านนั้นกระทำนิติกรรมใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนิติบุคคลอาคารชุดโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการแล้ว คณะกรรมการทั้งคณะก็จะต้องร่วมรับผิดกับผู้จัดการด้วยเช่นกัน


วันนี้ ผมขออนุญาตตอบเพียง 2 ข้อก่อนนะครับ เนื่องจากมีภาระหน้าที่งานประจำเป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมายประจำบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีภาระกิจจะต้องเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตแต่เช้า เนื่องจากบริษัทฯ มีคอนโดฯ อยู่ที่นั่น  จะขออนุญาตตอบคำถามข้อต่อ ๆ ไปในทันทีที่เดินทางกลับจากจังหวัดภูเก็ต

โดยคุณ วัชรพล ส่งเมล์ถึง วัชรพล [ 2010-01-19 ] ตอบ 204
คำเตือนเกี่ยวกับการใช้สมุดเยี่ยมชม


Copyright (c) 2008 by Vatchara Thamma Land Law Office Company Limited.