สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน กฏหมายที่ดิน,กฏหมายอาคารชุด

       

   สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน  

สำนักงานวัชรธรรมทนายความฯ ยินดีให้บริการท่านด้วยประสบการณ์ในวิชาชีพ ให้คำปรึกษาทำโครงการบ้านจัดสรร คอนโด ขาย สร้าง โอน ครบวงจร                                                                                                                                                                                                                                                                    
 

   

    





 สถิติวันนี้ 29 คน
 สถิติเมื่อวาน 52 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4912 คน
26628 คน
2738156 คน
เริ่มเมื่อ 2008-11-20


คำกล่าวนำสมุดเยี่ยมชม
คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สมุดเยี่ยมชม


การลาออกจากกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดมีผลเมื่อไหร่

เรียนอาจารย์ ผมมีเรื่องรบกวนอาจารย์อีกแล้วครับ เนื่องจากคอนโดที่ผมอาศัยอยู่ จะมีเรื่องให้ได้สอบถามอยู่เรื่อย ๆ และเพื่อเป็นอุธาหรณ์ให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดและผู้ที่กำลังตัดสินใจจะซื้อคอนโด ดังนี้ครับ


1. สมมติผมเป็นกรรมการการนิติบุคคลอาคารชุด ได้ยื่นใบลาออกกับนิติฯ โดยระยะเวลานับตั้งแต่วันยื่นจนถึงวันนี้ล่วงเลยมาแล้ว 4 เดือน หลังจากที่ผมยื่นหนังสือแล้วหนึ่งวัน นิติฯ ก็ได้นำหนังสือขึ้นบอร์ดประกาศให้กับลูกบ้านทราบแล้ว แต่นิติฯ ยังไม่ได้ไปแจ้งการลาออกของผมที่ที่ดินเลย จึงขอสอบถามว่าการลาออกของผมมีผลทางด้านกฎหมายแล้วหรือไม่ อย่างไร


2. ในการที่คณะกรรมการมีประชุมแต่ละครั้ง หลังจากที่ผมลาออกแล้ว มติแต่ละครั้งของคณะกรรมการไม่ว่าจะมีผลทางด้านบวกหรือลบตามเสียงส่วนใหญ่ ผมยังมีส่วนรู้เห็นอยู่หรือไม่ (เพราะยังไม่ได้แจ้งให้ที่ดินทราบ)


3. ในกรณีเช่นนี้ ถือว่าผู้จัดการนิติฯ มีความผิดหรือไม่ อย่างไร


4. หากในคอนโดมีเจ้าของห้องชุดที่หายสาปสูญไปหลายปีแล้ว และตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา นิติฯ นำห้องดังกล่าวไปให้บุคคลทั่วไปรวมถึงพนักงานของนิติฯ เองเช่า โดยนำเงินเข้าเป็นรายได้ของนิติฯ ไม่ทราบว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร


5. ต่อเนื่องจากข้อ 2. หากพิสูจน์ได้ในภายหลังว่านิติฯ ไม่ได้นำเงินดังกล่าวเข้าเป็นรายได้ของนิติฯ ผจก.หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีความผิดหรือไม่ อย่างไร หากพวกเขาอ้างว่าติดต่อกับเจ้าของห้องชุดและญาติพี่น้องหรือคนรู้จักไม่ได้เลย


6. ต่อเนื่องจากข้อ 2. เช่นกัน หากนิติฯ โดยมติของคณะกรรมการด้วยหรือไม่ ผมไม่ทราบ ได้นำเงินส่วนกลางไปตกแต่งปรับปรุงห้องดังกล่าวให้ดีขึ้น เพื่อจะได้มาซึ่งค่าเช่าที่สูงกว่า ถือเป็นการนำเงินค่าส่วนกลางไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ และต้องนำเข้าที่ประชุมใหญ่หรือไม่ อย่างไร


ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงอีกครั้ง

โดย คนแม่เย็น IP: xxx [ 2012-09-24 ]

คำตอบจาก Webmaster
1. การลาออกมีผลตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากมาตรา 37/3 (2) บัญญัติว่า กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อลาออก
2. เมื่อพ้นจากตำแหน่งกรรมการด้วยการลาออกแล้ว มติของคณะกรรมการฯ จึงไม่มีผลกับคุณอีกต่อไปเพราะคุณไม่ได้เป็นกรรมการแล้ว การไม่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ ไม่มีผลให้คุณเป็นกรรมการอยู่ต่อไปเพราะมาตรา 37/3 บัญญัติไว้ว่า กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อลาออก ไม่ได้บัญญัติว่า "กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อลาออกและผู้จัดการได้จดทะเบียนการลาออกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว"
3. ผู้จัดการนิติฯ ไม่มีความผิดเพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการเอาไว้ว่า หากกรรมการลาออกผู้จัดการต้องไปจดทะเบียนการลาออกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กฎหมายกำหนดไว้แต่ีเฉพาะกรณีแต่งตั้งกรรมการเท่านั้น ที่ผู้จัดการจะต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ (ตามมาตรา 37 วรรค 5) หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทตามมาตรา 69
4. ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะนำรายได้่เข้านิติฯ ก็ตาม เพราะมิใช่อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่กฎหมายบัญญัติไว้
5. เมื่อผู้จัดการกระทำการดังกล่าว แม้จะนำเงินรายได้เข้านิติฯ หรือไม่เข้านิติฯ ก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็ขัดต่อกฎหมาย เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดในพระราชบัญญัติอาคารชุดที่ให้อำนาจผู้จัดการกระทำการดังกล่าวได้ เมื่อผู้จัดการกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่การเป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุดจึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว
6. หากผู้จัดการนิติฯ กระทำไปโดยมติของคณะกรรมการ ๆ ก็จะต้องรับผิดต่อเจ้าของร่วมเป็นการส่วนตัว เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการฯ ที่จะลงมติเช่นนั้นได้ เนื่องจากมิได้นำเงินส่วนกลางไปดูแลบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุด แม้หากคณะกรรมการฯ จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่และที่ประชุมใหญ่ลงมติเห็นชอบด้วยก็ตาม กรณีมิใช่การจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์ส่วนกลางซึ่งที่ประชุมใหญ่มีอำนาจพิจารณาและอนุมัติ มติดังกล่าวจึงเป็นมติที่ผิดกฎหมาย เจ้าของร่วมมีสิทธิฟ้องเพิกถอนได้
โดยคุณ วัชรพล วัชรตระกูล [ 2012-09-24 ] ตอบ 823
คำเตือนเกี่ยวกับการใช้สมุดเยี่ยมชม


Copyright (c) 2008 by Vatchara Thamma Land Law Office Company Limited.