สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน กฏหมายที่ดิน,กฏหมายอาคารชุด

       

   สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน  

สำนักงานวัชรธรรมทนายความฯ ยินดีให้บริการท่านด้วยประสบการณ์ในวิชาชีพ ให้คำปรึกษาทำโครงการบ้านจัดสรร คอนโด ขาย สร้าง โอน ครบวงจร                                                                                                                                                                                                                                                                    
 

   

    





 สถิติวันนี้ 171 คน
 สถิติเมื่อวาน 80 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
318 คน
27109 คน
2738637 คน
เริ่มเมื่อ 2008-11-20


คำกล่าวนำสมุดเยี่ยมชม
คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สมุดเยี่ยมชม


ข้อพิพาทเรื่องสร้างอพาร์ทเม้น บนที่ดินจัดสรร
ผมซื้อที่ดินเปล่าจัดสรรต่อจากเจ้าของเดิมจำนวน 2 งาน เพื่อสร้างหอพักหรืออพาร์ทเม้น ถูกต้องตามแบบ พรบ อาคาร โดยตอนทำสัญญาจะซื้อจะขายผู้ขายก็ไม่ได้แจ้งหรือห้ามสร้างหอพักหรืออพาร์ทเม้นแต่อย่างใด ภายหลังเมื่อโอนมาแล้ว และเริ่มสร้างหอพัก ปรากฏว่ามีบุคคลเข้ามาแจ้งว่าเป็นเจ้าของโครงการที่ดินจัดสรร แจ้งว่าห้ามก่อสร้างสิ่งก่อสร้างในลักษณะอพาร์ทเม้นหรือหอพัก อยากทราบว่าหากบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของโครงการจริง จะมีสิทธิห้ามเราไม่ให้สร้างอพาร์ทเม้นดังกล่าวหรือไม่ และหากเรายังมีความประสงค์ต้องการสร้างอพาร์ทเม้นในที่ดินดังกล่าวควรมีวิธีการทำอย่างไรครับ (ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบครับ) 
โดย ตรัยรัตน์ (ip171.6.102.126) อี-เมล์ ตรัยรัตน์ (ip171.6.102.126) เบอร์โทรศัพท์. ตรัยรัตน์ IP: xxx [ 2013-10-16 ]

คำตอบจาก Webmaster

เพื่อความสมบูรณ์ของคำตอบ จึงขอยกบทความต่อไปนี้มาให้สมาชิกได้อ่านเป็นวิทยาทาน


เป็นกรณีของชาวบ้านจำนวนกว่า 60 คน ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ยื่นฟ้องเทศบาลต่อศาลปกครอง ขอให้คุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ซื้อบ้านจัดสรร ในโครงการอันเนื่องมาจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ซื้อที่ดินเปล่าจากโครงการ ก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ล.ส.) 4 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารอยู่อาศัยรวม จำนวน 32 ห้อง


ทำให้ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างอาคาร เพราะอาคารบดบังทัศนียภาพ ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการรักษาความปลอดภัย จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว


ผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาล) ชี้แจงว่า ในการพิจารณาคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารได้พิจารณาแบบแปลนและเอกสารที่เกี่ยวข้องว่าการขออนุญาตถูกต้องตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 และได้พิจารณาพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ประกอบด้วยแล้ว นอกจากนี้ ผู้จัดสรรที่ดินได้อุทิศถนนในที่ดินจัดสรรโครงการให้เป็นสาธารณะประโยชน์แล้ว


มูลเหตุของคดีนี้ แม้จะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการใช้บังคับประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 (พ.ศ.2515) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินขณะนั้น แต่ พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ก็มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกัน


โดยกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินต้องยื่นคำขออนุญาตจัดสรรที่ดิน พร้อมทั้งแผนผังโครงการ และวิธีการจัดสรรที่ดินต่อคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดิน และเมื่อได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินแล้ว ผู้จัดสรรที่ดินจะต้องทำการจัดสรรที่ดินตามที่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลปกครองสูงสุดอธิบายถึงเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนดการวางแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินว่า เป็นการวางข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจัดสรรในเรื่องต่างๆ ภายในบริเวณขอบเขตแผนผังเพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปตามแนวทางที่ดินว่า เป็นการวางข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจัดสรรในเรื่องต่างๆ ภายในบริเวณขอบเขตแผนผังเพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด รวมทั้งเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การคมนาคม การจราจร ความปลอดภัย การสาธารณูปโภค และการผังเมือง ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาสภาพแวดล้อม การส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ และการบริหารชุมชน


ดังนั้น การที่ผู้ซื้อที่ดินเปล่าในโครงการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารในที่ดินจัดสรรเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแถว (ทาวน์เฮาส์) และเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารได้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?


ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจัดสรรตามแผนผังโครงการมีลักษณะผูกพันกับที่ดินจัดสรรในโครงการ ตราบเท่าที่ที่ดินนั้นยังคงเป็นที่ดินจัดสรรตามกฎหมาย ไม่ว่าที่ดินจัดสรรนั้นจะโอนไปเป็นของบุคคลใดก็ตาม มิใช่เป็นเพียงข้อกำหนดที่ผูกพันกับบุคคล หรือผู้จัดสรรเท่านั้น เมื่อที่ดินแปลงที่ก่อสร้างอาคารตามแผนผังโครงการจัดสรรที่ดิน กำหนดให้ก่อสร้างบ้านเดี่ยวสำหรับเป็นที่พักอาศัย และในโฆษณาขายบ้านของโครงการยังได้กำหนดให้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น การใช้ประโยชน์ในที่ดินจึงกระทำได้แต่เฉพาะเป็นบ้านเดี่ยวสำหรับพักอาศัยเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ประกอบการพาณิชย์ หรือการอื่นใดให้ผิดไปจากแผนผังโครงการตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินได้


นอกจากนี้ การอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารที่มีการแบ่งออกเป็นห้องจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบมาตรฐานด้านสาธารณูปโภค และบริการสาธารณะเพื่อรองรับผู้ซื้อที่ดินจัดสรร หรือผู้อยู่อาศัยและบริวารตามที่กำหนดไว้ ลดลง หรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้สอย และจะทำให้เกิดความไม่สะดวกสบาย ความไม่พอเพียงของสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ


ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น รวม 32 ห้อง จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดและเจตนารมณ์ของการใช้ประโยชน์ที่ดินจัดสรร และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรส่วนรวมที่ต้องได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยอย่างปกติสุขภายในหมู่บ้านจัดสรร


การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 873/2555)

โดยคุณ วัชรพล วัชรตระกูล [ 2013-10-18 ] ตอบ 997
กรณีดังกล่าวจะต้องไปดูแผนผังโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินที่เจ้าของโครงการเดิมได้ยื่นขออนุญาตจัดสรรต่อทางราชการว่าระบุว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวระบุว่า เป็นแปลงสำหรับก่อสร้างอะไร หากระบุว่า เป็นแปลงสำหรับปลูกสร้างบ้านเดี่ยวเช่นนี้ คุณก็ไม่สามารถที่จะทำการก่อสร้างอพาร์ทเม้นท์หรือหอพักได้ แม้จะได้ยื่นขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารตาม พรบ.ควบคุมอาคารและได้รับใบอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารแล้วก็ตาม หากเจ้าของที่ดินที่ปลูกบ้านพักอาศัยแปลงข้างเคียงไปร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร ศาลปกครองก็จะพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาต ผลคือ ไม่สามารถก่อสร้างอาคารได้ เหตุเพราะก่อสร้างอาคารผิดแผกแตกต่างไปจากแผนผังโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินนั่นเอง เรื่องดังกล่าวเคยมีกรณีศึกษามาแล้ว เมื่อมีผู้ซื้อที่ดินในหมู่บ้านแห่งหนึ่งแถวรังสิตและไปก่อสร้างอพาร์ทเม้นท์หรือหอพัก ปรากฏว่า มีเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียงไปฟ้องศาลปกครอง ๆ สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ทำให้เจ้าของที่ดินที่ปลูกสร้างอพาร์ทเม้นท์ได้รับความเสียหายมาก เพราะไม่สามารถก่อสร้างอพาร์ทเม้นท์หรือหอพักได้ เหตุเพราะก่อสร้างผิดแผกแตกต่างไปจากแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตนั่นเอง

หากคุณมีความประสงค์จะก่อสร้างอพาร์ทเม้นท์ในที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไป จะต้องให้เจ้าของโครงการ (ผู้ขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดิน) ยื่นเรื่องราวขอแก้ไขแผนผังโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดินเสียก่อน หากคณะกรรมการฯ อนุญาต จึงจะทำการก่อสร้างได้
โดยคุณ วัชรพล วัชรตระกูล [ 2013-10-18 ] ตอบ 996
คำเตือนเกี่ยวกับการใช้สมุดเยี่ยมชม


Copyright (c) 2008 by Vatchara Thamma Land Law Office Company Limited.